กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ทีเอ็มบี
ทีเอ็มบี เข้าใจพร้อมตอบโจทย์เอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ส่งสินเชื่อ "ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี สมาร์ท บิส" ให้วงเงินครบทุกความต้องการของเอสเอ็มอี เปิดรับหลักประกันหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดแค่หลักประกันเดิมๆ พร้อมจัดสัมมนา "ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง จะรวยอย่างไรในยุคดิจิทัล" เปิดมุมมอง เสริมความมั่นใจให้เอสเอ็มอีเกี่ยวกับการก่อร่างสร้างโอกาสธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ด้วยรากฐานองค์ความรู้ที่ทันสมัย และเครื่องมือดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งเป็นธุรกิจฐานราก ช่วยหนุนเศรษฐกิจประเทศให้เจริญก้าวหน้าในยุคประเทศไทย 4.0
นางสาวเทียนทิพย์ นาราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีให้ความสำคัญในการสนับสนุนเอสเอ็มอีสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จึงได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจรตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง (Need Based) มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ "ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี สมาร์ท บิส" ที่พัฒนาขึ้นจากความเข้าใจทุกความต้องการ พร้อมสนับสนุนเงินทุนทุกประเภทเพื่อเอสเอ็มอี ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีสินเชื่อครอบคลุมทุกประเภทตามความต้องการของธุรกิจ อาทิ สินเชื่อเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) และสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) เพื่อก่อสร้าง หรือซื้อสถานประกอบการ ซื้อเครื่องจักร เป็นต้น นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังสามารถใช้หลักประกันรูปแบบใหม่ คือ เครื่องจักร สินค้าคงคลัง ลูกหนี้การค้า เพื่อให้ได้รับวงเงินเพิ่มจากหลักประกันในรูปแบบเดิม และเมื่อใช้วงเงินและเดินบัญชีสม่ำเสมอ กับทีเอ็มบีก็มีโอกาสรับเงินทุนเพิ่มได้อีกด้วย
นอกจากสินเชื่อที่ครบทุกความต้องการของเอสเอ็มอีแล้ว ทีเอ็มบียังมีบัญชีเพื่อธุรกิจ "ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี วัน แบงก์" ที่สามารถ โอน-รับ-จ่าย ข้ามธนาคาร ข้ามเขต ได้ทันที โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เมื่อทำธุรกรรมด้วยช่องทางดิจิทัล ผ่านโมบายล์แอปพลิเคชั่น "ทีเอ็มบี บิสซิเนส ทัช" ซึ่งเป็นแอปฯ ที่พัฒนามาเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอี รวมไปถึงการให้ความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานการเติบโตของเอสเอ็มอีอย่างมั่นคง โดยคัดสรรองค์ความรู้ ที่น่าเชื่อถือ และทันโลกในยุคดิจิทัล 4.0 มามอบให้กับผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม โดยมองว่าอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เป็นรากฐานของไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการเติบโตของโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างทั้งค้าส่ง และค้าปลีกจำนวนกว่า 50,000 ราย พลอยได้รับอานิสงส์เติบโตตามไปด้วย
งานสัมมนา "ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง จะรวยอย่างไรในยุคดิจิทัล" ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ ในแวดวงวัสดุก่อสร้างได้เปิดโลกความรู้กับมืออาชีพ โดยมีกูรูที่มีชื่อเสียงด้านการตลาดและการเงินในยุคดิจิทัล ตลอดจนผู้ประกอบการตัวจริงในแวดวงธุรกิจวัสดุก่อสร้างมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แบบเจาะลึก รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของทีเอ็มบี อาทิ สินเชื่อ บัญชีธุรกิจ ฯลฯ จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมและตอบโจทย์การทำธุรกิจ ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกให้กับ เอสเอ็มอีในธุรกิจวัสดุก่อสร้างอย่างแท้จริง
งานสัมมนา "ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง จะรวยอย่างไรในยุคดิจิทัล" แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเปิดเวทีความรู้ ด้วยการบรรยายหัวข้อ "พลิกธุรกิจสู่ตลาดออนไลน์" โดย นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตลาดดิจิทัล และเจ้าของเว็บไซต์การตลาดสุดฮิต nuttaputch.com ต่อด้วยช่วงที่ 2 เข้มข้นกับการเสวนาหัวข้อ "เสริมแกร่งธุรกิจวัสดุก่อสร้าง" นำโดย นายถนอม เกตุเอม บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ @TAXBugnoms ที่มามอบความรู้ที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับการวางแผนภาษีอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่าง มีประสิทธิภาพ นายพีระเดช นพทีปกังวาล ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีประสบการณ์ระดับ แนวหน้า กรรมการ บริษัท นวการค้าวัสดุก่อสร้าง จำกัด ร่วมเผยเคล็ดไม่ลับและแรงบันดาลใจในการบริหารจัดการธุรกิจวัสดุก่อสร้างให้ประสบความสำเร็จ และปิดท้ายด้วย นายณัฐพงษ์ ลาภพาณิชยกุล เจ้าหน้าที่บริหารชำนาญการธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบี ที่มาเติมเต็มเทคนิคการบริหารจัดการเงินอย่างไรให้คุ้มค่า เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนลดต้นทุนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี รายงานว่า GDP ของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.08 แสนล้านบาท โดยมีแนวโน้มเติบโตที่สดใสเมื่อพิจารณาจากปัจจัยบวกต่างๆ อาทิ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ วงเงิน 1.76 ล้านล้านบาท การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) การขยายตัวแบบก้าวกระโดดของสังคมเมืองในหัวเมืองใหญ่ทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงความต้องการพัฒนาประเทศของประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLM ซึ่งคาดการณ์ว่า จะก่อให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าได้ เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง เป็นต้น อีกทั้ง การมีร้านค้าตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างของบริษัทต่างๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นแต้มต่อในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยไม่น้อย