กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ ความสามารถ ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับหนังสือรับรอง ความรู้ความสามารถ(License) ซึ่งประกาศกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 มีผู้ผ่านการประเมินแล้ว 70,829 คน( ณ 6 กย.60)โดย กพร. มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจตราและให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้สอดรับกับ 8 วาระปฎิรูปเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้าน Safety Thailand
การตรวจประเมินเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประเมิน ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย บทบาทหน้าที่ในการตรวจ กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตรวจเป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน กพร.จึงจัดโครงการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2560 ณ โรงแรมไพน์เฮิร์ท ปทุมธานี โดยมีผู้เข้าอบรมจำนวน 106 คน
นายธวัช เบญจาทิกุล รองอธิบดี กพร. กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติหน้าที่ด้านตรวจประเมิน ควรเตรียมตัวให้มีความพร้อมตลอดเวลา ตั้งแต่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องรอบรู้เรื่องของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนต้องพัฒนาบุคลิกภาพให้มีความน่าเชื่อถือ อาทิ แต่งกายให้เหมาะสม การพูดจาด้วยความสุภาพ ให้คำแนะนำด้วยความเป็นมิตร และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับ และถูกต้องตามกฎหมายด้วย
สำหรับเนื้อหาการอบรมประกอบด้วยภารกิจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ อำนาจหน้าที่ จรรยาบรรณ ความผิดและบทกำหนดโทษ การดำเนินคดีอาญาและการเปรียบเทียบผู้กระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการส่เงสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2558 ประเภทการตรวจและขั้นตอนการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมแบ่งกลุ่มระดมสมอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นและวิธีการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานจริง เมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในอนาคต กพร.จะดำเนินการผลักดันให้มีการประกาศสาขาอาชีพเพิ่มเติม อาทิ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม เพื่อคุ้มครอง ดูแล ทั้งผู้ประกอบอาชีพและเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้รับบริการ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของส่วนรวมทั้งสิ้น นายธวัช กล่าวทิ้งท้าย