กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม รับลูกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในแนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวม 14 หน่วยงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ Roadmap และมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการของประเทศ รองรับการก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560
ทั้งนี้ โลกในปัจจุบันกำลังก้าวสู่ยุคการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย ยังมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับต่ำ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไม่เพียงจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการบริการอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยจะนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนในส่วนที่เหมาะสม เพื่อจะพัฒนาแรงงานไปเป็นแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น โดยจะมีการและยกระดับแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น (Retrain/Reskill) โดย Center of Robotic Excellence (CoRE) จะมีบทบาทหลักในเรื่องดังกล่าว
Roadmap และมาตรการที่จัดทำขึ้นนี้เป็นการดำเนินการในแนวประชารัฐ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ
การกระตุ้นอุปสงค์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาทในปีแรก และมีการขยายการลงทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาทใน 5 ปี
การสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator (SI) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SI ประมาณ 200 ราย ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี
การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปี ต้องพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) ได้กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "รวมพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ประเทศไทย 4.0" ขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขึ้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบ
ดังนั้น 8 หน่วยงานด้านวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ และ 14 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (CoRE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท สุพรัม โพรดักส์ จำกัด บริษัท เควี อีเลคทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเห็นชอบร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศ สนับสนุน System Integrator (SI) และต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ตั้งไว้ โดยกำหนดให้มีความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้
ผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมพัฒนาบุคลากรและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ร่วมเผยแพร่งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ภาคอุตสาหกรรมบูรณาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมในประเทศมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ในปี 2560 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ