แพทย์เตือนผู้ป่วยโรคหัวใจต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติแนะให้ออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกชนิด

ข่าวทั่วไป Tuesday May 16, 2000 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16--พ.ค.--แชนด์วิค
อายุรแพทย์โรคหัวใจแนะนำให้คนไทยยึดสายกลาง รู้จักแบ่งเวลาทำงานและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้ถูกต้องและเป็นกิจวัตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคหัวใจเอง นอกจากต้องระวังเรื่องการใช้ยาแล้ว ยังควรฟื้นฟูสมรรถภาพของหัวใจให้แข็งแรงด้วย เพื่อสามารถดำเนินภารกิจประจำวันได้เต็มที่
พลตรี น.พ. ประวิชช์ ตันประเสริฐ ประธานศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้กล่าวถึงความคิดในอดีตที่มองผู้ป่วยโรคหัวใจ คือ บุคคลที่หมดสภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนสมรรถภาพทางเพศ ว่า "เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะสามารถมีสภาพร่างกายเหมือนคนปกติได้ หรือในบางคนยังสามารถมีสภาพร่างกายที่ดีกว่าก่อนป่วยด้วยโรคหัวใจด้วยซ้ำไป การรักษาโรคหัวใจ มีหลายวิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด และการฟื้นฟูหัวใจ"
"เรื่องของยารักษาโรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น ทุกคนจะต้องเข้าใจว่ายาทุกตัวมีทั้งประโยชน์และมีโทษถ้าใช้ผิดวิธี สิ่งสำคัญ คือ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าคนไข้ควรจะได้รับประทานยาชนิดนั้นๆ หรือไม่ คนไข้เองก็ต้องรู้จักใช้ยาให้ถูกต้องด้วย และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด การใช้ยาทุกชนิดจึงจะมีความปลอดภัยสูง" พลตรี น.พ. ประวิชช์ กล่าวย้ำ "ผู้ป่วยโรคหัวใจจึงไม่ควรซื้อยาใดๆ มารับประทานเอง แม้กระทั่งยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ที่มีความปลอดภัย และมีจำหน่ายในประเทศไทย ผู้ป่วยก็ควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน และให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้เท่านั้น เพราะยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์เสริมกับยารักษาโรคหัวใจที่รับประทานอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรวดเร็ว"
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคหัวใจโดยการใช้ยา หรือ การผ่าตัดแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น การฟื้นฟูหัวใจ จะเป็นการผสมผสานกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การฝึกออกกำลังและการให้ความรู้ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันต่ำ เป็นต้น ตามโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจที่แพทย์กำหนด ขบวนการนี้มีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคหัวใจล้มเหลว รวมทั้งผู้ป่วย
ที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ ผู้ป่วยที่ยิ่งมีอาการมากจะยิ่งได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูมาก แต่ในทางกลับกันกลุ่มนี้ก็จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากจะมีอันตรายมากขึ้นด้วย ผลลัพธ์จะดีที่สุดจะต้องเกิดจากความร่วมมือและเข้าใจกันดีอย่างยิ่งระหว่างผู้ป่วย แพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง
การให้ความรู้เรื่อง การออกกำลังกายชนิดที่ให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกๆ ส่วน อาจจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือ ว่ายน้ำ ทั้งนี้ การออกกำลังกายต้องคำนึงถึงความแรงของการออกกำลังกาย ควรจะอยู่ประมาณ 70-75% ของอัตราการเต้นชีพจรสูงสุด ระยะเวลาไม่ควรน้อยกว่า 15 นาที และควรปฏิบัติ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
ในสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องทำงานกันอย่างหนักนี้ มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ พลตรี น.พ. ประวิชช์ ได้ให้ความเห็นว่า "สำหรับบุคคลปกติก็มีโอกาสที่เป็นโรคหัวใจได้เช่นกันหากไม่รู้จักป้องกัน การปฏิบัติตนโดยยึดแนวทางสายกลางถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือเมื่อทำงานหนัก ก็ควรที่จะพักผ่อนให้เพียงพอ และข้อสำคัญคือต้องออกกำลังกายให้พอดี รับประทานอาหารที่ถูกสัดส่วน หากไม่ได้ออกกำลังกาย ซ้ำยังดำเนินวิถีชีวิตที่เสียงต่อการเป็นโรคเช่น สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สาเหตุเหล่านี้ก่อให้เกิดการอุดตันในระบบไหลเวียนของเส้นเลือด มีโอกาสการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น บางรายก็มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศบ่งชี้ให้เห็นได้โดยง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงโอกาสการเป็นโรคหัวใจ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและรับการรักษาที่ถูกต้อง"
สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอรับเอกสาร หรือคำปรึกษาได้ฟรี ที่ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย โทรศัพท์ ฮอตไลน์ 635 1001 หรือตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพฯ 10501 หรือ โทรสาร 656 8455 หรือเว็บไซต์ http://menhealth.pfizer.co.th โดยจดหมายหรือคำถามที่ส่งเข้ามา ศูนย์ข้อมูลฯ จะเก็บไว้เป็นความลับ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุลบริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 257 0300 โทรสาร 257 0312--จบ--
-ยก-

แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ