กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์ออสโล ประเทศนอร์เวย์ (Oslo Stock Exchange: OSE) เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาตลาดทุนร่วมกัน พร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจครอบคลุมถึงแนวทางการส่งเสริมการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้าจดทะเบียน การพัฒนาสินค้าและบริการ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนในอนาคต พร้อมต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์จิตตะกอง ประเทศบังคลาเทศ (Chittagong Stock Exchange: CSE)
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์ออสโล ประเทศนอร์เวย์ (Oslo Stock Exchange: OSE) เป็นครั้งแรก โดยมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเชื่อมโยงการพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาค โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาตลาดทุน ทั้งในเรื่องของการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้าจดทะเบียน (Secondary Listing) ความร่วมมือในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น การออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt : DR) กองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ไทย หรือนอร์เวย์ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมการซื้อขายข้ามพรมแดน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการลงทุนให้กับธุรกิจผู้ลงทุน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนในอนาคต
นางเบนท์ แลนด์สเนส กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลาดหลักทรัพย์ออสโล เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ออสโลมีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าการลงนามครั้งนี้ จะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล อีกทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาตลาดทุนของทั้ง 2 ตลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ในการขยายฐานผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังได้ลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์จิตตะกอง ประเทศบังคลาเทศ (Chittagong Stock Exchange: CSE) อีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ตลาดหลักทรัพย์มีความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่ปี 2545 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของแต่ละประเทศ และเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันในอนาคต