รู้เท่าทันวัณโรค...เพชฌฆาตภัยเงียบที่พบผู้ป่วยดื้อยามากที่สุด

ข่าวทั่วไป Friday September 8, 2017 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--โรงพยาบาลพระรามเก้า โดย ทีมแพทย์ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Mycobacterium Tuberculosis ติดต่อสู่มนุษย์ โดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีความคงทนต่ออากาศแห้งได้และสามารถแฝงอยู่ในฝุ่นละอองได้นาน วัณโรคมักเป็นที่บริเวณปอดมากกว่าอวัยวะอื่น แต่สามารถเป็นได้ที่อวัยวะอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังและเยื่อหุ้มสมอง โดยวัณโรคปอด มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น เอดส์ หรือ เกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิต้านทาน องค์การอนามัยโลก จัดอันดับให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาเรื่องวัณโรค ซึ่งโรคนี้ยังถือว่าเป็นโรคที่มีความดื้อยาในหลายขนาน ซึ่งแต่ละปีของประเทศไทยนั้น จะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 13,800 คน ที่สำคัญคาดว่า ผู้ป่วยมีอาการดื้อยาหลายขนานมากถึง 4,500 คน ที่เข้ารับการรักษา ปัจจุบันมีวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หมายถึง เชื้อวัณโรคที่พัฒนาการดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ชนิด ซึ่งได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ในการตรวจค้นพบผู้ป่วย ทำให้ทราบผลได้รวดเร็วมากขึ้นจาก 6-8 สัปดาห์ เป็นทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ ว่าเชื้อวัณโรคดื้อยาหรือไม่ ทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาและปรับชนิดและขนาดยารักษาวัณโรคได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการักษาที่ดียิ่งขึ้น และลดการเกิดผลข้างเคียงจากยารักษาวัณโรค นอกจากนี้ ยังสามารถลดโอกาสเกิดการดื้อยาของผู้ป่วยบางรายได้ด้วย ทีมแพทย์ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและรีบรักษาทันทีนั้น ถือว่าเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยวัณโรคที่กลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยวัณโรคที่ขาดยาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษาและผลการรักษาไม่ดีขึ้น ยาในปัจจุบัน ก็นับว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาวัณโรค แต่ต้องใช้ยาหลายชนิดจึงสามารถฆ่าเชื้อ วัณโรคได้และการรักษาที่ได้ผลจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน ในกรณีที่เป็นวัณโรคดื้อยาอาจต้องใช้ระยะเวลารักษาเกือบ 2 ปี การรักษาจะได้ผลดี จะต้องรีบรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและจะต้องดูแลสุขภาพพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและวิตามิน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ ขณะที่ผู้ที่เป็นวัณโรคในระยะที่เริ่มการรักษาโดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรกควรลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กและคนชรา รวมไปถึงการเดินทางในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนต์ ห้างสรรพสินค้า และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยยานพาหนะผู้อื่นในระยะเวลานาน ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปด้วย เพื่อป้องกันวัณโรคจากภัยเงียบใกล้ตัวนี้ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ