กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
ผศ.ดร.แตงอ่อน มั่นใจตน ผู้อำนวยการโครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวบรรยายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการใช้สื่อออนไลน์เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน จัดโดยสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ นิด้า ว่า ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ควรตื่นตัวในเรื่องการจัดการขยะให้มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มปริมาณขยะมีมากขึ้นตามการเติบโตทางสังคม เศรษฐกิจ โดยขยะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น กลิ่นเน่าเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค รวมไปถึงการทำให้ท่ออุดตัน น้ำท่วมขัง ตลอดจนน้ำในคลองเน่าเสีย ทั้งนี้ในแต่ละปี กทม. มีค่าจัดการขยะทั้งการเก็บขน ค่ากำจัด สูงถึงปีละ 6 พันล้านบาท
"สิ่งที่ทุกชุมชนสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ต้องเริ่มต้น จากการคัดแยกขยะ เช่น ขยะสด/อินทรีย์ นำมาทำประโยชน์ในการหมักน้ำชีวภาพ ทำดิน ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัวได้ หรือขยะรีไซเคิล นำไปขายหรือบริจาค ส่วนขยะอันตราย ควรรวบรวมแล้วแจ้งเขตมาเก็บ ตลอดจนการรณรงค์ลดการใช้จาน/แก้วที่ทำมาจากโฟมหรือพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะ เป็นต้น" ผศ.ดร.แตงอ่อน กล่าว
สำหรับในปี 2560 นี้ โครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบ นิด้า ได้มีการส่งเสริมองค์ความรู้และลงพื้นที่ปฏิบัติการกับชุมชนในเขตคันนายาวและเขตบางกะปิ แล้วกว่า 40 ชุมชน เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะ โดยตัวแทนแต่ละชุมชน/เขต จะมาร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนผลงานในงานมหกรรมรวมน้ำใจเพื่อสายน้ำ 2560 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 23 กันยายนนี้ ที่นิด้า
นายประทุม สุดใจ รองประธานชุมชนหมู่บ้านเปรมฤทัย 1 โซนคลองลำชะล่า เขตคันนายาว 1 ในชุมชนต้นแบบ ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจัดการขยะและน้ำทิ้ง โดยการสนับสนุนจากนิด้า กล่าวว่า หมู่บ้านเปรมฤทัย 1 มีการจัดตั้งศูนย์ผลิตน้ำสกัดชีวภาพ พร้อมแจกจ่ายสำหรับการเทลงท่อในทุกซอยและเทลงท่อน้ำทิ้งในบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน โดยกำหนดในการเทน้ำสกัดชีวภาพ เดือนละ 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 เพื่อช่วยลดกลิ่น ปรับสภาพน้ำให้ใสลงสู่คลองลำชะล่าได้ มีการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตน้ำยาล้างจานที่ไม่มีสารเคมีผสม แจกในชุมชนและร้านอาหารในชุมชน
นอกจากนี้ มีการตั้งถังซีเมนต์สำหรับเป็นจุดการทำดินหรือปุ๋ยอินทรีย์จากขยะสด เศษใบไม้ เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ปัจจุบันมีการวางถังหมักดิน ปุ๋ย รวมจำนวน 8 จุด โดย 1 จุดครอบคลุม 25 ครัวเรือนหรือเฉลี่ยการใช้ประโยชน์ 200 หลังคาเรือน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวของสมาชิกชุมชนฯ ที่จัดสรรพื้นที่เล็กๆในพื้นที่บ้านปลูกพืชผัก อาทิ น้ำเต้า ฝักแฟง พริก คะน้า ตะไคร้ ฯลฯ โดยส่งเสริมการนำน้ำทิ้งมารดน้ำต้นไม้ ปัจจุบันมีสมาชิกชุมชนสนใจและให้ความร่วมมือ กว่า 150 ครัวเรือน โดยวิธีทำงานขับเคลื่อน เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย การเดินรณรงค์ให้ความรู้ตามบ้านและแจกจ่ายน้ำหมัก น้ำยาล้างจาน การจัดประชุมอบรมและติดตามการทำงานโดยทีมวิชาการจากนิด้า ฯลฯ
นายประทุม กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือในชุมชนอาจยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาชุมชนมีการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและนอก ได้แก่ ชุมชนโซนคลองลำชะล่า ชุมชนจากโซนคลองลำเกร็ด-คอตัน โซนคลองหลอแหล ในพื้นที่ขตคันนายาว ตลอดจนหน่วยงาน อาทิ สำนักงานเขตคันนายาว ทหาร ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนคันนายาว สภาวัฒนธรรมเขตคันนายาว เป็นต้น ที่ร่วมเป็นเครือข่ายในการจัดการขยะและน้ำทิ้ง ทำให้เกิดพลังในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปสู่การมีบ้านน่ามอง คลองสะอาด ของคนคันนายาวที่มีวัฒนธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นชุมชนต้นแบบและเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อไป