กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
วันนี้ (8 กันยายน 2560) ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "ประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน" ดำเนินการในรูปแบบกิจกรรมปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ยั่งยืน เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560 ซึ่งดำเนินโครงการโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมจัดเตรียมพื้นที่ปลูกประมาณ 30 ไร่ จำนวนกล้าไม้ 985 ต้น ประกอบด้วยพรรณไม้มากกว่า 30 ชนิดพันธุ์ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยการประสานความร่วมมือของบุคลากรภายในองค์กร หน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนประชาชนในพื้นที่และผู้แทนสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคี กระทำความดีให้กับประเทศชาติ ปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้และทรัพยากรป่าไม้
ทั้งนี้ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ได้ร่วมปลูกต้นมหาพรหมราชินี...พรรณไม้ในพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสำรวจพบครั้งแรกโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 จากอุทยานแห่งชาติแม่สุรินทร์ บ้านห้วยฮี้ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย (Endemic of Thailand) โดยปัจจุบันต้นมหาพรหมราชินีจัดเป็นพรรณไม้ประจำ วว.
นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอาคารเรือนกระจก 1 และ 2 พร้อมทั้งแผนการดำเนินงานสถานีวิจัยลำตะคอง และเยี่ยมชมกิจกรรมชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากสถานีวิจัยลำตะคอง ได้แก่ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพด กลุ่มผู้ปลูกผักสลัด กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงผักหวานป่า กลุ่มผลิตเห็ดเพื่อการค้า และผลผลิตน้อยหน่า
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในพื้นที่สถานีวิจัยลำตะคองในปัจจุบันและในอนาคตว่า มุ่งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ 40 ไร่ ที่ต่อเนื่องกับพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ (อาคารเรือนกระจก 2 อาคาร) และสามารถเชื่อมโยงกับสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชในพื้นที่ใกล้เคียงได้ สามารถใช้พื้นที่เป็นสถานที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP หรือส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายขององค์กร โดยแบ่งการดำเนินงาน ได้ดังนี้ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร และเป็นพื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนลำตะคอง โดยมีแปลงทดลองและทดสอบด้านการวิจัยการเกษตร
2.ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อเป็นสถานที่จัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร และชุมชน ซึ่งมีความพร้อมด้านที่ประชุมอบรม ที่พัก และแปลงสาธิตจริง ประกอบด้วย อาคารปฏิบัติการเพื่อการขยายสายพันธุ์และการพัฒนาป่าไม้เศรษฐกิจ และศูนย์การผลิตและกระจายพันธุ์กล้าไม้คุณภาพเพื่อชุมชน 3.พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจประกอบด้วย อาคารเทคโนโลยีการเกษตรเสมือนจริงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อาคารเฉลิมพระเกียรติเรือนกระจกหลังที่ 1) เป็นอาคารที่รวบพรรณไม้หลากหลายชนิด โดยแบ่งเป็นส่วนที่แสดงพันธุ์พืชในกลุ่มเฟิน กลุ่มกล้วยไม้ กลุ่มพรรณไม้เลื้อย กลุ่มพรรณไม้แถบทะเลทราย/พรรณไม้น้ำ และอาคารอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อาคารเฉลิมพระเกียรติเรือนกระจกหลังที่ 2) เป็นอาคารที่จัดแสดงวิวัฒนาการพันธุ์พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ และจัดแสดงสายพันธุ์แมลงในประเทศไทย
4.ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลจากขยะ เพื่อเป็นแหล่งสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากขยะชีวมวลแบบครบวงจร รองรับขยะชีวมวล 12 ตัน/วัน ประกอบด้วย อาคารวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลจากขยะด้วย Plasma technology และ โรงไฟฟ้าจากขยะชีวมวลด้วยแก๊สซิเฟชั่น ไฟโรไลซีสเทคโนโลยี 5.ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น การผลิต block ประสาน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งมีโรงงานนำทาง (pilot plant) ในการผลิตยาง compound และน้ำยางข้น เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เช่น หมอนยางพารา ถุงมือยาง อีกทั้งยังสามารถรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ประกอบด้วย อาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ
อนึ่ง สำหรับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความหมายดังนี้
ปลูกป่าอย่างที่ 1 คือ ปลูกพรรณไม้เศรษฐกิจ เช่น มหาพรหมราชินื ไม้ตะเคียนทอง สัก ยางนา มะฮอกกานี กระทินเทพา พะยอม เต็ง กระบก พะยูง กระพี้จั่น คำมอกหลวง กันเกรา ลำพูป่า กุ่มน้ำ กฤษณา ประดู่ มะป่วน และมะค่าโมง เป็นต้น
ประโยชน์อย่างที่ 1 คือ ปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
ปลูกป่าอย่างที่ 2 คือ ปลูกพรรณไม้กินได้ เช่น ไม้ผลต่างๆ ได้แก่ ตะคร้อ ลูกดิ่ง คอแลน ตะขบป่า มะไฟป่า มะม่วงมหาชนก ชะมวง มะเดื่อปล้อง ยอป่า ชมพู่ กระท้อน ขี้เหล็ก เป็นต้น
ประโยชน์อย่างที่ 2 คือ ปลูกต้นไม้สำหรับใช้กิน เป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่ม ตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อการค้าขายผลผลิตเพื่อดำรงชีพ
ปลูกป่าอย่างที่ 3 คือ พรรณไม้ใช้สอย เช่น ไม้ไผ่ และหวาย
ประโยชน์อย่างที่ 3 คือ ปลูกต้นไม้สำหรับใช้สอย ในครัวเรือน ใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ เช่น ด้ามจอบ, มีด, ขวาน
และประโยชน์อย่างที่ 4 คือ "สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ"
หรือแปลความสรุปอย่างเข้าใจง่ายว่า "ปลูกไม้ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ และระบบนิเวศน์"