กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก้ปัญหาผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การเสียเปรียบในเชิงการค้า ตลอดจนการยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีศักยภาพและความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมโครงการฯ และส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ให้ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนในทุกภาค และดำเนินการวิจัยพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ให้สามารถเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกัน คือ ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่สอดคล้องกับแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
โดยการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ราย เน้นการพัฒนาด้านกระบวนการผลิตและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ของ OTOP ทั้ง ๕ ประเภท ประกอบด้วย อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ