กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ของจะเสีย!
พูดถึงพิพิธภัณฑ์ หลายคนคงจินตนาการภาพสถานที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ มีโซ่กั้นล้อมรอบ พร้อมคำบรรยายยาว ๆ กับป้ายสัญลักษณ์ห้ามจับ ที่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ชวนอดใจจะเอามือไปสัมผัสไม่ได้
แรกเริ่ม พันธกิจทางสังคมของพิพิธภัณฑ์นั้นให้ความสำคัญกับการเก็บรักษา อนุรักษ์ ถ่ายทอดประสบการณ์ความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม จริยธรรมรวมถึงธรรมชาติ แก่คนรุ่นต่อไป และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเอง มีพิพิธภัณฑ์เชิงอนุรักษ์ที่เน้นการจัดแสดงวัตถุในลักษณะดังกล่าวอยู่ไม่น้อย แต่ในยุคสมัยที่พฤติกรรมการเสพสื่อของคนเปลี่ยนไป เทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมนั่นคือ บทบาทด้านการให้การศึกษา ซึ่งปัจจุบัน หลายๆ พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญและเร่งพัฒนาเพื่อให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชน และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
Museum Forum 2017: Museum Education NOW! ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อเร็วๆ??
ล่าสุด มิวนี้เซียมสยาม เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ องค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม และองค์กรด้านการศึกษา รวมตัวกันจัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ Museum Forum 2017 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และขับเคลื่อนบทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ให้เด่นชัดมากขึ้น
นายราเมศ พรหมเย็น ผอ.มิวเซียมสยาม โชว์ตัวอย่างสื่อพิพิธภัณฑ์ที่พัฒนาโดยมิวเซียมสยามนายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า จากการศึกษาทฤษฎีการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้และผลวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า สมองจะเปิดรับการเรียนมากที่สุดเมื่อรู้สึกสนุก และกระบวนการซึมซับความรู้ผ่านเพียงการดูการฟัง สมองจะสามารถเรียนรู้จดจำได้มากที่สุดแค่เพียง 50% เท่านั้น ดังนั้น สื่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่จึงมุ่งประเด็นไปที่การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการมีปฏิสัมพันธ์ (Active Learning) สอดแทรกองค์ความรู้ ผ่านในรูปแบบของสื่อบันเทิงเชิงสาระสร้างสรรค์ (Edutainment) เช่น เกมส์ กิจกรรมอินเตอร์แอ๊กทีฟ และกิจกรรมประกอบการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบการสื่อสารในแต่ละช่วงวัย เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษา ที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้มีศักยภาพต่อไปในอนาคต
ไฮไลท์ของงาน Museum Forum 2017 หนีไม่พ้นการจัดแสดงสื่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ที่ มิวเซียมสยาม และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงไว้ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านสังคมศาสตร์ ที่หากเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์แล้ว สื่อสำหรับวิชาสังคมศาสตร์ยังขาดความปัจจุบันทันสมัยอยู่มาก เช่น
· แบบจำลองบ้านเรือนไทย พูดถึงเรือนไทย หลายคนคงเคยเห็นแต่ในแบบเรียน แต่จะให้ไปปีนเรือนไทยส่องกันก็คงจะลำบาก แบบจำลองบ้านเรือนไทยนี้จึงถูกออกแบบ เพื่อเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรม ให้ได้เรียนรู้ส่วนประกอบสำคัญของบ้านเรือนไทย วิธีการก่อสร้าง ส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนไทย ทั้งพื้น ประตู โครงหลังคาและการมุงหลังคา ที่ทุกคนสามารถทดลองประกอบได้เอง
· เกมเศรษฐียุคสุวรรณภูมิ สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบของเกมส์กระดานที่เด็กๆ คุ้นเคยกันอย่างดีอย่างเกมเศรษฐีและเกมบันไดงู ที่สอดแทรกความรู้เรื่องเส้นทางการค้าโบราณ ชนิดสินค้าที่ค้าขาย ในสมัยสุวรรณภูมิ สภาพภูมิประเทศ ชื่อเมืองท่าการค้าและปัญหาอุปสรรค ต่างๆ ที่คนในสมัยก่อนต้องประสบ โดยลดข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะสามารถร่วมกิจกรรมได้หลายๆ คนในครั้งเดียว
· จิ๊กซอว์สามมิติ หมดปัญหา "กรุณาอย่าจับ" ในพิพิธภัณฑ์ไปได้เลย โดยออกแบบสื่อให้ทั้งขนาด น้ำหนัก และใช้วัสดุใกล้เคียงกับโบราณวัตถุจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การสัมผัสและลงมือทำ ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองในการจดจำและเรียนรู้อย่างยั่งยืน ตลอดจน ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านความคิดเชื่อมโยง มิติสัมพันธ์ และความคิดสร้างสรรค์ด้วย
· เทคโนโลยีภาพเสมือน 3 มิติ และโฮโลแกรม (AR3D) นอกจากสื่อพิพิธภัณฑ์ทั่วไปแล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อให้รองรับกับพฤติกรรมการใช้สื่อของเยาวชนยุคดิจิทัล โดยออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่เมื่อเพียงนำมาส่องกับสื่อที่จัดวางไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็จะแสดงภาพให้เห็นกันแบบ 3 มิติ 360องศา
นอกจากการพัฒนาสื่อพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการศึกษาสำหรับเยาวชนแล้ว ยังมีการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ รวมถึงสื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อลดปัญหาด้านช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่ไม่เฉพาะสำหรับเยาวชนทั่วไป แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องของร่างกายอีกด้วย
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ และคำบรรยายอักษรเบรลล์ สำหรับผู้มีความบกพร่องของร่างกายเพื่อให้พิพิธภัณฑ์ สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน ปัจจุบัน วงการการศึกษาเองยังไม่ได้ใช้หยิบยกเอาพิพิธภัณฑ์ มาใช้เป็นสื่อเพื่อการให้การศึกษาสำหรับเยาวชนมากนัก ซึ่งมิวเซียมสยาม และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างสูงว่า การพัฒนาสื่อพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ และเอื้อต่อการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์มากขึ้น จะสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลูกฝังวัฒนธรรมการเข้าพิพิธภัณฑ์ และสร้างความตระหนักแก่สังคมว่า พิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่สถานที่น่าเบื่ออีกต่อไป