กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบริการสุขภาพเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงและต่อเนื่อง ปีละ 7-10% และในปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ สร้างรายได้ประมาณ 45,000 พันล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพไว้ 3 ด้าน ด้านที่หนึ่ง การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน มาตรฐานอาชีพ คุณวุฒิวิชาชีพ และหลักสูตรเฉพาะด้านสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการให้สูงขึ้น
ด้านที่สอง การผลิตและพัฒนาบุคลากรในตำแหน่งงานหลักของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมุ่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะทั้งเจ้าของสถานประกอบกิจการและบุคลากร ตั้งเป้าระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 รวม 56,500 คนแบ่งเป็นภาคการพัฒนาดำเนินการจำนวน 28,000 คน และอยู่ในส่วนของภาคการผลิต(ภาคการศึกษา) จำนวน 28,500 คน ด้านที่สาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เน้นระบบการจัดการแบบบูรณาการ ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอาชีพ และสภาธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า กพร.จึงจัดทำบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยพะเยา โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ร่วมลงนามในครั้งนี้ (9 กันยายน 2560) ณ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่ง ม.พะเยาและกพร.ให้ความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนากำลังแรงงานในทุกระดับ ให้มีทักษะ มีความรู้ความสามารถในการทำงาน รวมถึงการพัฒนาวิชาชีพการแพทย์ทางเลือก เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับการนโยบายการพัฒนากำลังคนของรัฐบาล เป็นกลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
โดย กพร.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเป็นหน่วยปฏิบัติ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูงฯ เชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเน้นด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยาให้ทันสมัยต่อความต้องการของประเทศ และได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองและเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพ
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมให้มีการวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน การพัฒนาหลักสูตร และการใช้ทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย อาทิ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรฝึก ข้อมูล เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่และปัจจัยอื่น ๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์วิชาชีพในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ให้แก่บุคลากร นิสิตนักศึกษา แรงงานและผู้ประกอบกิจการ โดยสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบังคับของแต่ละฝ่ายอีกด้วย นายธีรพล กล่าว