กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 48.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 52.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 756 แท่น ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ในรอบ 4 สัปดาห์ และต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60
· 4 ก.ย. 60 Federal Bureau of Safety and Environmental Enforcement (BSEE) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่อ่าวเม็กซิโกกำลังการผลิต 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 121,484 บาร์เรลต่อวัน ใน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันลดปริมาณการผลิตช่วงเฮอริเคน Harvey พัดผ่าน
· 8 ก.ย. 60 บริษัท Valero เปิดเผยว่าโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมด 5 โรงที่ตั้งอยู่บริเวณ Gulf Coast รัฐ Texas ของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังการกลั่นรวมกัน 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ในกระบวนการเร่งเครื่องเพื่อกลับมาดำเนินการตามปกติ
· Department for Business, Energy and Industry Strategy (BEIS) ของสหราชอาณาจักรรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ม.ค.-มิ.ย. 60 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.3% มาอยู่ที่ระดับ 919,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี บริษัท Shell และ BP เริ่มผลิตน้ำมันดิบ จากแหล่ง Schiehallion และ Loyal ปริมาณรวม 130,000 บาร์เรลต่อวัน
· Reuters รายงานว่า Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียเตรียมประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 60 ลง 350,000 บาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องจากเดือน ก.ย. 60 ที่ลดลง 520,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการลดการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 20,525 สัญญา มาอยู่ที่ 186,421 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติให้นำน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves หรือ SPR) ให้โรงกลั่นใช้ทดแทนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่ลดลงปริมาณรวม 4.5 ล้านบาร์เรล
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 462.4 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 สัปดาห์
· National Oil Corporation (NOC) ของลิเบีย ยกเลิกประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบSharara (300,000 บาร์เรลต่อวัน ) และสามารถกลับมาดำเนินการได้ หลังจากถูกปิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 60 เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบไปยังท่าส่งออก Zawiya
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากเฮอริเคน Irma ซึ่งเป็นหนึ่งในเฮอริเคนที่ทรงพลังที่สุดในทศวรรษ (Category 4: ความเร็วลม 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และเป็นลูกที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ที่พัดเข้าสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากพายุ Harvey ซึ่งขึ้นฝั่งในวันที่ 25 ส.ค. 60 นอกจากนั้นนักลงทุนยังไม่คลายความกังวล เพราะพายุ Jose กำลังก่อตัวขึ้นอีกบริเวณทะเลแคริบเบียน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันอาจได้รับแรงสนับสนุนหลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih เปิดเผยความเป็นไปได้ที่ OPEC และ Non-OPEC จะขยายเวลาลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติม จากเดิมสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. 61 ขณะที่ล่าสุดโรงกลั่นน้ำมัน Port Arthur (กำลังการกลั่น 605,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Motiva ใน U.S. Gulf Coastกลับมาดำเนินการหลังได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ให้ติดตามผลการลงคะแนนเสียงของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ในการพิจารณาคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้การทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ของเกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อ UNSC ห้ามส่งออกน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่าจะลดทอนสถานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งศักยภาพทางการทหารของเกาหลีเหนือ ที่พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศทั้งหมด สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.0-55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.5-50.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubaiจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.5-54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากตลาดน้ำมันเบนซินทั่วโลกแข็งแกร่ง โดยค่าการกลั่นในยุโรปยังอยู่ในระดับสูง และArbitrage มาสู่ภูมิภาคเอเชียลดลง ขณะที่ตะวันออกกลางส่งออกน้ำมันเบนซินไปยังแอฟริกาฝั่งตะวันตก เพื่อทดแทนอุปทานจากสหรัฐฯ ฝั่งอ่าวเม็กซิโก ที่หยุดชะงักจากผลกระทบจากพายุ Harvey ขณะที่ Bloomberg รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซิน ของจีน เดือน ม.ค.-ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3% เฉลี่ยอยู่ที่ 2.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับChina National Offshore Oil Corp. (CNOOC) เลื่อนเปิดดำเนินการโรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นครั้งที่ 2 เริ่มจากต้นเดือน ก.ย. 60 เป็นกลางเดือนเนื่องจากการก่อสร้าง Steam Boiler ล่าช้า ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 560,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.78 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท BP เริ่มเดินเครื่องโรงกลั่น Kwinana (กำลังการกลั่น 146,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของประเทศออสเตรเลียและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 60 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นหลัง Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน (Apparent Demand: ไม่รวมการเก็บปริมาณสำรอง) เดือน ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8 % มาอยู่ที่ 3.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้ในภาคการขนส่ง การทำเหมืองแร่ และการประมงแข็งแกร่ง ประกอบกับ บริษัท Ceypetco ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณ 150,000 บาร์เรล ส่งมอบ 23-24 ต.ค. 60 อย่างไรก็ตามผู้ค้าน้ำมันในสิงคโปร์ คาดว่าบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ของอินโดนีเซีย จะส่งออกมันดีเซล 1,400 ppm หรือ 2,500 ppm ชนิดละ 200,000 บาร์เรล ต่อเที่ยวเรือ หลัง Pertamina ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้สามารถส่งออกน้ำมันดีเซลได้เป็นครั้งแรก เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการแข่งขันภายในประเทศสูงขึ้น รวมถึงข้อบังคับเพิ่มสัดส่วน biodiesel ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2559 ลดความต้องการใช้น้ำมันดีเซลภายในประเทศ ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 670,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.45 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล