กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชั่นส์
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ นำ 20 หน่วยงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 64 กิจกรรม ในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 223 แห่ง มุ่งเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนสู่ยุค Thailand 4.0 ภายใต้แนวคิดการจัดกิจกรรมในรูปแบบ STEM Education ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมนำเยาวชนเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี" ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"โอ้โฮ! ทำไมไดโนเสาร์ขยับตัวได้ มีเสียงดังด้วย และตัวโตกว่าในหนังสือตั้งเยอะ.... " น้องๆ เยาวชนชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดบัวขวัญ จ.นนทบุรี ต่างส่งเสียงเซ็งแซ่ด้วยความตื่นเต้นและสนุกสนานเมื่อได้เข้าเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ (ปทุมธานี)" ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทีใช้ระยะเวลาไม่นานจากกรุงเทพฯ ไปปทุมธานี ก็สามารถเข้าถึงความรู้มากมายเกี่ยวกับธรณีวิทยา ที่ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของดินและหินเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของทรัพยากรแร่หิน ไดโนเสาร์ไทย แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และธรณีวิทยาพิบัติภัย ทั้งในรูปแบบของกิจกรรมและนิทรรศการมากมายที่จัดแสดงให้ทั้งเด็กๆ เยาวชน คุณครู และผู้ปกครองได้เรียนรู้ร่วมกัน
นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 เล่าว่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และกระตุ้นความสนใจในด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา แร่-หิน เป็นกิจกรรมศึกษานอกโรงเรียน โดยเฉลี่ยมีผู้มาเที่ยวชมและเรียนรู้ปีละประมาณ 80,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนและครอบครัวที่สนใจเรื่องราวของธรณีวิทยาของประเทศไทย โดยเป้าหมายในอนาคตของพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาฯ คือการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา หรือ Learning center ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับครูนักเรียนและประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาได้ด้วยตนเอง และภายใต้การทำงานของคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งถือว่ากิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น กิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นกิจกรรมที่เน้นความรู้ที่สอดคล้องกับบทเรียน เป็นการสร้างทักษะและกระบวนการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา"
นางจุฬาลักษณ์ นวีภาพ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาฯ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่จัดแสดงเกี่ยวกับธรณีวิทยาผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ 6 ฐาน ได้แก่ 1.ฐานเรียนรู้แร่-หิน 2.ฐานการเรียนรู้ซากดึกดำบรรพ์ 3.ฐานเรียนรู้เกี่ยวกับธรณีพิบัติภัย 4.ฐานเปลือกโลก 5.ฐานน้ำบาดาล และ 6.ฐานปิโตรเลียม พลังงานทางเลือก โดยทั้งสื่อ เนื้อหา วิธีการเล่าเรื่องของแต่ละฐานจะสอดคล้องกับหลักสูตรในห้องเรียนและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก ดังนั้น เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาจนถึงนวัตกรรมและวิวัฒนาการปัจจุบัน หนึ่งฐานสามารถรองรับได้ประมาณ 40 คน โดยก่อนหน้านี้เราได้ทดลองทำค่ายต้นแบบมาก่อน โดยมีครูผู้สอนมาร่วมประเมินเนื้อหาและกระบวนการต่างๆ ควรเพิ่มหรือลดอะไรให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้เด็กๆ คุณครู และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ และได้ความรู้อย่างสนุกสนาน"
เช่น กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ค้นพบในไทยสำหรับเด็กวัยอนุบาล จะเริ่มต้นจากการระบายสีไดโนเสาร์ และตามด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นที่ทำให้ไดโนเสาร์สามารถเคลื่อนไหวและเสมือนมีชีวิต และมีสีสันตามที่เด็กๆระบายสี เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือเท่านั้น
ส่วน กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยาของเด็กประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน เช่น เมื่อเด็กๆ ได้เห็นซากกระดูกไดโนเสาร์หลงเหลือ ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานภายในห้องทดลอง โดยการหล่อปูนพลาสเตอร์ไดโนเสาร์ เพื่อเรียนรู้และค้นคว้าว่าฟอสซิลเกิดได้อย่างไร รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องของแผงหินและแร่ด้วยและ กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการแยกของหินและแร่ของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น จะเป็นการเสริมความเข้าใจภายในชั้นเรียน โดยให้น้องๆ ได้เรียนรู้ลักษณะทางกายภาพ เคมี จากการได้เห็นและสัมผัสก้อนหินจริง
ส่วน กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องดินถล่มของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย นั้น เราจะจัดกิจกรรมให้น้องๆ ได้ฝึกปั้นภูเขา การขึ้นโครงสร้างของโมเดลตามลักษณะภูมิประเทศของแต่ละคน และทดลองทำดินถล่ม เพื่อให้ได้ศึกษาถึงทิศทางการเคลื่อนไหว ได้เรียนรู้จุดที่ปลอดภัยจากการเกิดดินถล่มหรือน้ำป่าไหลหลาก จากนั้นจึงนำไปสู่การสร้างโมเดลโดยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากการทดลองและปฏิบัติจริงทั้งหมดนี้ จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ว่าธรณีพิบัติเป็นภัยใกล้ตัว และรู้จักวิธีการเอาตัวรอดจากพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้
น้องๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบัวขวัญ จ.นนทบุรี ได้แก่ ด.ญ.ฟาม จ่ายาง ด.ญ.ศรีรัตน์ ศรีสุนนท์ และด.ญ.พิสชา สีดา เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสว่า "พวกหนู 3 คน มาเที่ยวธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นครั้งแรกค่ะ สนุกและตื่นเต้นมาก มีกิจกรรมให้เราได้เรียนรู้เยอะดี และที่ชอบมากที่สุดคือนิทรรศการค่ะ เพราะได้เห็นหุ่นไดโนเสาร์เคลื่อนไหว มีเสียง และตัวใหญ่มาก ดูเหมือนจริงสนุกกว่าที่เห็นในหนังสือ ได้สนุก ได้ความรู้ ได้เที่ยวกับเพื่อนด้วย พวกหนูคิดว่าจะชวนพ่อกับแม่มาเที่ยวที่นี่อีกนะคะ เพราะมาครั้งเดียวยังสนุกได้ไม่เต็มที่ค่ะ ยังอยากดูไดโนเสาร์เคลื่อนไหว อยากฟังพี่ๆ เล่าเรื่องราวธรณีวิทยา แร่ หิน ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะ ถึงวันนี้พวกหนูจะยังเข้าใจไม่หมด แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นของจริงและจำอะไรได้หลายอย่างนะคะ ได้รู้จักไดโนเสาร์หลายพันธุ์ พันธุ์ไหนกินพืช พันธุ์ไหนไม่กินพืช พันธุ์ไหนดุร้าย รู้จักไดโนเสาร์ แถมยังมีเกมให้เล่นเยอะด้วย สนุกมากค่ะ"
สำหรับน้องๆ อนุบาล "วัยแห่งการเรียนรู้" การปูพื้นฐานอาหารสมองโดยการพาท่องเที่ยวและสนุกสนานไปกับประสบการณ์การเรียนรู้จากสถานที่จริงนั้น สามารถเปิดสมอง สร้างการเรียนรู้ และเกิดการจดจำมากมาย ด.ญ.กัญญาณัฐ เขียวสอนทอง และด.ญ.ปรานปรียา สายจันทร์ เล่าด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำว่า วันนี้สนุกและมีความสุขมากค่ะ ตื่นเต้นที่ได้เจอกับหุ่นไดโนเสาร์ที่ขยับได้จริง ร้องได้จริง ได้รู้จักกับไดโนเสาร์หลายชนิด ได้เข้าไปในอุโมงค์เหมืองแร่ด้วย อยากมาอีกค่ะ"
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี บนพื้นที่การเรียนรู้ประมาณ 5 ไร่ แบ่งเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 ชั้น และสวนหิน 2 ไร่ ประกอบไปด้วย ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ห้องสมุด ห้องทดลอง ห้องกิจกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันมียอดผู้เข้าเยี่ยมชมและสนุกสนานกับการศึกษาข้อมูลด้านธรณีวิทยา เรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ กำเนิดแร่ หิน ธรณีวิทยาประยุกต์ ธรณีวิทยาของประเทศไทย ธรณีวิทยาพิบัติภัย สวนหินตามเวลาทางธรณีวิทยา และอุทยานไดโนเสาร์ (จำลอง) เพิ่มขึ้นเป็นแสนกว่าคน โดยเป็นกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ประมาณ 80% และกลุ่มที่มากันเป็นครอบครัว 20 % สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02-902-7661
นอกจากจะมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานีแล้ว ทางกรมทรัพยากรธรณียังจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาของประเทศไทยอีก 6 แห่ง ได้แก่ 1. พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ 2. พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ 3. ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น 4. ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จ.ระยอง 5. พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จ.ลำปาง และ 6.พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี
สำหรับข้อมูลกิจกรรมสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ www.okmd.or.th/MuseAndLearn2U หรือติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.facebook.com/MuseAndLearn2U สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 02-105-6530