สภากทม.พิจารณา 2 ญัตติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2001 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (17 ต.ค.44 ) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของนายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตธนบุรี เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครคัดค้านการจ่ายค่ารื้อถอนและก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษก — ลาดพร้าว ให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
นายสมชาย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการจัดการจราจรทางบกมีมติเมื่อ พ.ศ.2537 ให้กทม.รื้อสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษก — ลาดพร้าว ซึ่งสร้างในแนวชิดริมถนนทั้ง 2 ฝั่ง ไปสร้างใหม่บริเวณเกาะกลางถนน โดยใช้งบประมาณของกทม.ในการรื้อย้ายนั้น เนื่องจากกทม.ได้รับการร้องขอจากโฮปเวลล์ให้สร้างสะพานลอยด้านข้างของสี่แยกลาดพร้าว เพื่อให้รถไฟฟ้าโฮปเวลล์สามารถแล่นผ่านได้ในขณะนั้น แต่ต่อมาทางรฟม.ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยใช้บริเวณสี่แยกลาดพร้าวเป็นอาคารที่จอดรถไฟฟ้าใต้ดิน ดังนั้นทางสภากรุงเทพมหานครจึงเห็นว่ากทม.ไม่ควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายเอง
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายสะพานลอยนั้น ทางที่ประชุมสจร.ได้มีการหารือกับรฟม. และตกลงให้กทม.ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายครึ่งหนึ่ง ประมาณ 200 ล้านบาท โดยทางรฟม.ได้ออกค่าใช้จ่ายไปให้กทม.ก่อน แล้วให้กทม.ผ่อนชำระภายหลัง อย่างไรก็ดีกทม.จะขอให้สจร.ไปดำเนินการเจรจาทบทวนในเรื่องดังกล่าวกับรฟม.อีกครั้ง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาญัตติของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งหามาตรการควบคุมโรคไข้เลือดออกและรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวในการป้องกันตนเอง
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนเป็นระยะที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลายจำนวนมากและซึ่งระบาดทั่วประเทศ ทั้งนี้ในปี 2544 มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศหลายหมื่นคน อัตราเฉลี่ย 70 คนต่อ 1 แสนคนมากกว่าในปี 2543 ประมาณ 20 เท่า และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี เฉพาะในกทม.มีผู้ป่วยประมาณ 7,000 คนและเสียชีวิตประมาณ 20 คน สาเหตุเพราะประชาชนยังขาดการส่งเสริมความรู้ในการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างถูกวิธี ดังนั้นกรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ ดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนจึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงพิษภัยของโรคไข้เลือดออกและการป้องกันที่ถูกต้อง
ด้านนายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีฝนตกชุกมากในบางฤดูกาล ทำให้เกิดแหล่งน้ำท่วมขังจำนวนมากซึ่งเป็นที่อยู่ของยุงลาย และการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาอยู่อาศัยในกทม.จำนวนมากทำให้เกิดชุมชนแออัดและขยะจำนวนมากซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างดี ทางสำนักอนามัย กทม.ได้ดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการป้องกันโรคไข้เลือดออกเรื่อยมาและมีการแจกสื่อรณรงค์ต่าง ๆให้กับนักเรียนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,500 โรงเรียน ส่วนการรณงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในระดับประเทศกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ดีในส่วนของกรุงเทพมหานครจะได้ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ 2 ญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ