กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--IR network
บมจ.เอแอลที เทเลคอม หรือ ALT เผยความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงดิน เฟสแรกนำร่องบริเวณห้าแยกลาดพร้าวถึงคลองสามเสน (บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ด้านบอสหญิง "ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์" เผยมีผู้ประกอบการติดต่อขอเช่าทั้งแบบท่อและแบบคอร์แล้ว พร้อมเดินหน้านำสายสื่อสารลงดินในโครงการพญาไท และโครงการสุขุมวิทในลำดับถัดไป หวังช่วยผู้ประกอบการลดภาระต้นทุน เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกัน
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบครบวงจร เปิดเผยถึง ความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้สามารถใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงในการนำสายสื่อลงดิน ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญร่วมกับระบบโทรคมนาคมของไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการแรกเป็นโครงการนำร่อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินเริ่มจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าวถึงคลองสามเสน (บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ขณะนี้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินและสายสื่อสารลงใต้ดินต่อไปเสร็จเรียบร้อย
และปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินอยู่อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพญาไท เริ่มดำเนินการไปแล้วประมาณ 10 กิโลเมตร (รวมฝั่งถนนด้านซ้ายและขวา) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน และโครงการสุขุมวิท เฟสต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่สุขุมวิทซอย 1 – 81 ได้เริ่มดำเนินการแล้วในวันจันทร์ที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนงานในเส้นทางอื่นๆ อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนตามนโยบายของภาครัฐ
"การนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น บริษัทฯ ได้ใช้เทคโนโลยีจากพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อการก่อสร้างดังกล่าว เรียกว่า ระบบแอร์ โบลน ซิสเต็ม ซึ่งเป็นการดันสายด้วยแรงลม แตกต่างจากวิธีเดิมที่ใช้แรงคนเพื่อดันสาย ทำให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินแล้ว 41.9 กม. และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 45.4 กม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 ขณะเดียวกันได้มีผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมติดต่อเข้ามาเพื่อเช่าบริการแล้ว อาทิ โมบายโอเปอเรเตอร์ บรอดแบรนด์โอเปอเรเตอร์ และเคเบิลทีวี ซึ่งบริษัทฯ เปิดให้เช่าทั้งในรูปแบบท่อและแบบคอร์ ซึ่งใน Fiber มีทั้ง 72 และ144 cores" นางปรีญาภรณ์ กล่าว
กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) กล่าวอีกว่า การนำสายสื่อสารลงดินในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐในการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้กรุงเทพฯ มีทัศนียภาพสวยงาม มีทางเท้าน่าเดินและปลอดภัย แล้วยังช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ประหยัดงบลงทุนเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมด้วยความจุของจำนวนเส้นใยแก้วนำแสง ที่มากเพียงพอรองรับความต้องการของผู้ประกอบการทุกราย นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานสายใยแก้วนำแสงในเส้นทางดังกล่าวได้อีกด้วย เพื่อมุ่งสู่ถนนมหานครแห่งอาเซียนไปด้วยกัน