กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
นางสาว ปวีณรัตน์ สุขพงศ์พิมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ โพลประเด็นสำคัญทางสังคม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 1,296 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ระบุ ไม่ทราบข่าวเรื่อง การตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ในขณะที่ ร้อยละ 35.2 ระบุ ทราบข่าวเรื่อง การตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ที่น่าพิจารณา คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 69.3 ประชาชนคิดว่า กระทรวงอุดมศึกษาควรเป็นสถาบันอิสระอย่างแท้จริงให้กำกับดูแลโดย คณะบุคคลมืออาชีพ เชี่ยวชาญด้าน สถาบันอุดมศึกษา มากกว่า กระทรวงอุดมศึกษาไม่ควรเป็นสถาบันอิสระ ที่มีอยู่ร้อยละ 30.7
นอกจากนี้ ถ้ากระทรวงอุดมศึกษายังคงอยู่ภายใต้การสั่งการของฝ่ายการเมือง พบว่า คุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา อื่นๆ จะดีขึ้นเพียงร้อยละ 12.4 ในขณะที่ ร้อยละ 61.6 กลับพบว่า คุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ จะเหมือนเดิม ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือร้อยละ 26.0 ประชาชนกับคิดว่า คุณภาพของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา อื่นๆ จะแย่ลง
เมื่อสอบถามถึงเรื่อง เชื่อมั่นหรือไม่ว่า หลังตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แล้วการเมืองจะไม่แทรกแซง ความเป็นอิสระของกระทรวงอุดมศึกษา พบว่า มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 66.7 ระบุ ไม่เชื่อมันว่าการเมืองจะไม่แทรกแซง มีเพียงร้อยละ 33.3 ยังคงความเชื่อมั่นว่าการเมืองจะไม่แทรกแซง
ที่น่าสนใจ คือ ถ้าตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้นมาแล้ว คุณต้องการให้มีอะไรดีขึ้นบ้าง พบว่า ประชาชนมากกว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75.6 ต้องการให้หลักสูตรการเรียนมีการพัฒนา ในขณะที่ร้อยละ 24.4 ต้องการให้บุคลากรมีคุณภาพ และร้อยละ 10.9 ต้องการให้ดูในเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตามลำดับ
ผู้ช่วย ผอ. ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า สาธารณชนยังไม่เชื่อมั่นหรือ อาจจะยังมองไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทางฝ่ายนโยบายรัฐด้านการศึกษาได้กำหนดไว้ในการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เพราะส่วนใหญ่มองว่าจะเหมือนเดิมและแย่ลงถ้ากระทรวงอุดมศึกษาถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงจึงเรียกร้องให้พิจารณาความเป็นอิสระด้านการบริหารกระทรวงอุดมศึกษาด้วยคณะบุคคลมืออาชีพด้านสถาบันอุดมศึกษาและเป็นคณะบุคคลที่ไม่มีเรื่องพัวพันกับความขัดแย้งใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา จึงเสนอให้ฝ่ายบริหารนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาพิจารณาถึงข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้และนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการนำพาการสนับสนุนของสาธารณชนต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้