กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การรวมหน่วยงานน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยนายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรา 44 รวมหน่วยงานน้ำ และจัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ การรวมกรม/หน่วยงานทางด้านน้ำ จัดตั้งเป็น "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.00 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้การบริหารงานและการประสานงานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน จะได้ช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุดและทั่วถึง จะได้จัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองลงมา ร้อยละ 27.04 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันทำงาน ช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และน่าจะแก้ไขปัญหา ได้ดีกว่าเดิม จะได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินการ และจะได้ช่วยเหลือประชาชนได้เร็วขึ้น ร้อยละ 5.12 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ คิดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด มีหน่วยงานดูแลด้านนี้อยู่แล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น การบริหารงานต่าง ๆ อาจจะทำได้ยากยิ่งขึ้น การดำเนินงานอาจจะล่าช้า ทุกหน่วยทำงานดีอยู่แล้ว ร้อยละ 3.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ อยากให้แต่ละหน่วยงานมีความรับผิดงานด้านใดด้านหนึ่งไปเลย และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ควรรวมหน่วยงานหรือบางส่วนของหน่วยงานใดบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.92 ระบุว่า กรมชลประทาน รองลงมา ร้อยละ 56.88 ระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำ ร้อยละ 56.72 ระบุว่า เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร้อยละ 54.24 ระบุว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร้อยละ 53.68 ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ร้อยละ 51.12 ระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร้อยละ 50.96 ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร้อยละ 50.56 ระบุว่า กรมเจ้าท่า ร้อยละ 50.48 ระบุว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร้อยละ 49.84 ระบุว่า การประปาส่วนภูมิภาค ร้อยละ 49.60 ระบุว่า การประปานครหลวง ร้อยละ 3.76 ระบุว่า ไม่ควรรวมหน่วยงานใดเลย และร้อยละ 11.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.24 เป็นเพศชาย และร้อยละ 45.76 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 5.52 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 14.00 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.68 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.00 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 5.04 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่าง ร้อยละ 88.96 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.60 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 6.24 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 19.68 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.88 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 6.80 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.24 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 25.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.92 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.00 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.40 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 7.60 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 13.84 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.44 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.36 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.20 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.32 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.60 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวง หากำไร และร้อยละ 7.84 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.12 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.72 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.80 ไม่ระบุรายได้