กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) (แผนพัฒนาตลาดทุนฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีเหตุผลความจำเป็นและสาระสำคัญ ดังนี้
เหตุผลความจำเป็น
ตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการใช้ประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจจริงและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นผ่านการระดมทุนในตลาดทุน ตลอดจนการเป็นช่องทางการออมและการลงทุนของภาคประชาชนในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทิศทางของตลาดทุนโลกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและความท้าทายในการแข่งขันที่มากขึ้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เป็นไปอย่างเสรี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงกระแสการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การลงทุนและจัดหาเงินทุนมีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่จำกัดเฉพาะในประเทศอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนและผู้ระดมทุนมีโอกาสและทางเลือกที่จะมุ่งไปยังประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญ
แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ พัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง แข่งได้ เชื่อมโยง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
แผนตลาดทุนไทยได้กำหนดกรอบมาตรการหลัก 5 มาตรการ แบ่งเป็น 14 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุนอีก 44 แผนงาน โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
มาตรการหลักที่ 1 การเป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs เช่น กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือกลุ่มผู้ที่มีความรู้ความคุ้นเคยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง Financial Technology (FinTech) ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม
มาตรการหลักที่ 2 การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถเป็นช่องทางให้กับภาครัฐและเอกชนในการระดมทุนขนาดใหญ่ เช่น การเพิ่มรูปแบบการระดมทุนที่ให้ภาคเอกชนมีโอกาสหรือมีส่วนในการร่วมลงทุนกับภาครัฐ (Public Private Partnership: PPP) ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค และมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขนาดของตลาดทุนไทย
มาตรการหลักที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย เพื่อทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้กับคู่แข่งในต่างประเทศ ตลอดจนดูแลให้ประชาชนมีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงช่องทางลงทุนในต้นทุนที่เหมาะสมและได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ดังนั้น การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่
(1) การส่งเสริมศักยภาพตลาดทุนไทย โดยการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
(2) การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ปรับปรุงกฎระเบียบ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ที่เป็นธรรม โดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ตนต้องการได้ และเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนผ่านการปรับปรุงกฎหมายและกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อรองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน
(3) การยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย ทั้งในเรื่องโครงสร้างและการตัดสินใจของ ตลท. การรองรับมาตรฐานสากล และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านทางการปรับปรุงกฎหมายและกฎกติกาต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อใช้วิเคราะห์การลงทุนในตลาดทุน
(4) การสร้างบุคลากรในตลาดทุน โดยการพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
มาตรการหลักที่ 4 การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค โดยส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน เชื่อมโยง สามารถเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญ ของภูมิภาค และมีผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่พร้อมรองรับการเป็นแหล่งลงทุนสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการลงทุนในภูมิภาค
มาตรการหลักที่ 5 การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่
(1) การจัดให้มีผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุและการจัดให้มีระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ
(2) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ
(3) การพัฒนาความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานของไทย
(4) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีดังนี้
1. ตลาดทุนจะเป็นกลไกระดมทุนที่สำคัญของภาครัฐและภาคธุรกิจทุกขนาด โดยภาคธุรกิจจะสามารถใช้ตลาดทุนไทยในการตอบสนองความต้องการด้านการระดมทุนได้ครบถ้วนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้สะดวกขึ้นผ่านช่องทางที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ตลาดทุนไทยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงเงินทุนและลดความเหลื่อมล้ำ
2. ตลาดทุนจะเป็นกลไกระดมทุนที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีความพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันและเป็นธรรมต่อผู้เล่นทุกระดับ ทั้งในด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ และภาษี รวมทั้งมีมาตรฐานสากลในทุกด้าน มีธรรมาภิบาล มีการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม และมีต้นทุนในการระดมทุนที่แข่งขันกับตลาดชั้นนำในภูมิภาคได้ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์คิดเป็น 1.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และมีมูลค่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนคิดเป็น 0.25 เท่าของ GDP
3. ตลาดทุนไทยจะมีความพร้อมในการเป็นแหล่งทุนของประเทศ CLMV และเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกที่สนใจลงทุนใน CLMV ได้หลากหลายสกุลเงินและรูปแบบสินทรัพย์ตามความต้องการของตลาด
4. ตลาดทุนไทยจะมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ตลาดทุนไทยในการออมและลงทุนได้อย่างทั่วถึง ทำให้ประเทศมีความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ตลาดทุนไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานทางการเงินที่เหมาะสม อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนพัฒนาตลาดทุนฯ จัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนา ตลาดทุนไทยที่แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 372/2558 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมสรรพากร สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการ และการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ นี้ จะกำกับดูแลโดยคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยข้างต้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และต่อเนื่อง
สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3689 โทรสาร 0 2273 9987