กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน จำกัด
"ความจริงเด็กเก่งดนตรีที่เป็นเพชรนั้นมีอยู่แล้ว แต่บางคนยังเป็นก้อนหินอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่เวทีนี้ทำการเจียระไนเพชรเหล่านั้น เมื่อได้เหรียญทองขึ้นมาก็เหมือนเพชรถูกเจียระไน อยู่บนหัวแหวน ทำให้คนเห็น ถ้าเป็นเพชรอยู่ในตมก็ไม่มีใครเห็น การประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย จึงเป็นเวทีเจียระไนเพชรให้กับสังคมไทย" คือคำอธิบายของ ดร. สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงคุณค่าและความสำคัญของการจัดประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นปีที่20และกำลังเปิดรับสมัครผลงานดนตรีของเยาวชน ทั่วประเทศ จนถึง 30 กันยายน 2560 โดยมีกรรมการตัดสินเป็นระดับศิลปินแห่งชาติอาทิ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
รศ. ดร. สุกรียังระบุว่าด้วยว่า เด็กเล่นดนตรีเก่งๆล้วนแต่ผ่านเวทีนี้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเวทีที่สร้างความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมประกวด บางคนประกวดมาเป็น10 ปี เมื่อไปประกวดต่างประเทศก็มีความมั่นคงในจิตใจ จะแพ้หรือชนะก็ไม่สนใจ เพราะคิดว่าทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่างนายต้นตระกูล แก้วหย่อง ที่เล่นโปงลาง หรือน.ส.พิจาริน วิริยะศักดากุล ที่ร้องเพลงโอเปร่าก็ประกวดกันมาหลายปี โดยน.ส.พิจารินเคยได้เหรียญทองอันดับหนึ่ง แต่พอปีที่แล้วได้เหรียญทองอันดับสาม ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การที่ได้เหรียญทองแม้จะเก่งแล้ว แต่กลับมาได้เหรียญทองอันดับสามก็ยังมีความสุขดี แสดงว่ารู้แพ้รู้ชนะ และรู้ว่าวันนี้ต้องฝึกฝนต่อไป ไม่ใช่ว่าจะได้เหรียญทองติดต่อกันทุกปี ขณะที่น.ส.ตปาลิน เจริญสุข ก็ได้เหรียญทอง 6-7 ปีซ้อน จากนั้นก็ไปประกวดในต่างประเทศ จนกลายเป็นนักเดี่ยวเชลโลคนแรกของเมืองไทยที่ออกไประดับนานาชาติ
" เวทีประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย มีความพิเศษคือ เปิดโอกาสให้เด็กที่เล่นดนตรีในไทยทุกเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน หรือดนตรีชนเผ่า หรือไม่มีเครื่องดนตรีมีแต่เสียงร้อง ก็สามารถเข้ามาสมัครได้ จุดประสงค์เพื่อรักษาดนตรี และยกย่องนักดนตรีเหล่านี้ และสร้างคน ซึ่งไม่มีเวทีประกวดที่ไหนที่อยู่ได้อย่างยืนยาวมานานถึง 20 ปี และเป็นเวทีเดียวที่มีกรรมการตัดสินที่เป็นคนเก่งๆในวงการดนตรีมานั่งฟัง โดยปีนี้คาดว่าจะมีผู้มาสมัครประมาณ 500 ผลงาน"
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพให้กับเยาวชนในอนาคต ไม่ใช่แค่ส่งเสริมเรื่องการเรียนอย่างเดียว แต่ต้องมีความมั่นคงทางด้านจิตใจด้วย นั่นคือต้องมีดนตรี มีกีฬา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสนับสนุนเรื่องดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายก็เพื่อเป็นเวทีให้เด็กๆได้ใช้ความรู้ความสามารถในเรื่องดนตรีอย่างเต็มที่ โดยการประกวดจะเป็นจุดตั้งต้นในการสร้างเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ ทั้งในระดับประเทศ ระดับเอเซีย และระดับนานาชาติ"
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า เวทีการประกวด SET เยาวชนดนตรีฯ เป็นโอกาสที่ดีมากๆ และเป็นเวทีสร้างคน ดนตรีเป็นสื่อสากล พ้นไปจากภาษาพูด เชื้อชาติ และกาลเวลา และดนตรีเป็นสิ่งพัฒนาคน พัฒนาจิตใจให้สมบูรณ์ไปด้วยความความรู้สึกนึกคิด และยังช่วยกล่อมเกลาประโลมใจให้เพลิดเพลิน เป็นทั้งสิ่งปลุกใจและปลอบใจ วิชาอื่นๆนั้นเป็นวิชาชีพ แต่ดนตรีเป็นวิชาชีวิต ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
สำหรับการประกวด SET เยาวชนดนตรีฯ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย และอุดมศึกษา ชิงรางวัลเกียรติบัตรและทุนการศึกษา โดยผู้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จะได้รับทุนการศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นอกจากนี้ยังมีรางวัลสำหรับครูผู้ฝึกสอนที่ลูกศิษย์เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกด้วย รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1.8 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-30 กันยายน เริ่มแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 25-26 พฤศจิกายน และชิงชนะเลิศในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th สอบถามโทร 0-2800-2525 ต่อ 3117, 3109