กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ร่วมกับ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการร่วมในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม-แห่งชาติ (สวนช.) เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีผู้เกี่ยวข้องในระบบวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างคับคั่ง
ดร.กิติพงค์ฯ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า การประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปีเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในอนาคต โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ทางเลขานุการร่วม สวนช. จะนำไปประมวลผล และนำมาปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ก่อนนำเสนอที่ประชุม สวนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 20 กันยายนนี้ต่อไป ทั้งนี้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี มีทิศทางการปรับเปลี่ยนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1. ปรับเปลี่ยนจากการวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากอุปทาน (Supply side) ที่ตอบโจทย์ของผู้วิจัยไปสู่การวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากอุปสงค์ (Demand side) เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม 2. ปรับแนวทางการวิจัยและนวัตกรรมจากหัวข้อวิจัยขนาดเล็กที่มีจำนวนมาก เป็นหัวข้อวิจัยขนาดที่มีการบูรณาการการทำวิจัย 3. ปรับแนวทางการวิจัยและนวัตกรรมที่กระจายไปทุกสาขา ไปเป็นเพื่อสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง 4. ต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี และการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ และ 5. เปลี่ยนจากการดำเนินงานโดยหลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดการซ้ำซ้อนและขาดพลัง เป็นการดำเนินงานในรูปแบบที่เกิดการสร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้กลไกประชารัฐและเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง และเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ สามารถใช้แก้ปัญหาและเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญ รวมไปถึงการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีฐานรากและสร้างนวัตกรรมทางสังคมสำหรับการเติบโตในระยะยาว
"ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยใช้วิจัยและนวัตกรรมเป็นกำลังอำนาจแห่งชาติ เพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ยุทธศาสตร์การวิจัยฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวข้างต้น จะเร่งขับเคลื่อนการใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 เพื่อนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สร้างความสามารถในการแข่งขัน และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะเกิดผลกระทบในภาพรวมของประเทศ ภายในปี 2579 ประกอบด้วย 1. ประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นผู้นำในนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในระดับโลก เช่น อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมสารชีวภาพ และอุตสาหกรรมวัสดุทางการแพทย์ รวมทั้งการท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่าสูง 2. เกิดการบูรณาการการทำงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยมีแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ รองรับการขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ 4. สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเป็น 80 : 20 5. ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของ GDP โดยสัดส่วนการลงทุนของเอกชนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 และ 6. สัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำการวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลาต่อประชากรไม่น้อยกว่า 60 : 10,000" ดร.กิติพงค์ กล่าว