กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
"สระแก้ว –สุพรรณบุรี" จ่อบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับท้องถิ่น หลัง คกก.กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เคาะ บริการรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นภารกิจของอปท. ผู้ปฏิบัติงานเฮ มั่นใจ ทำหน้าที่ช่วยปชช.มีกฎหมายรองรับ ด้านสพฉ.พร้อมสนับสนุนงบจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน
นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมออกประกาศให้งานการแพทย์ฉุกเฉินเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทำให้ล่าสุดมีจังหวัดอีก 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และ สุพรรณบุรี อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น ว่า ปกติระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ จิตอาสา องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร รวมไปถึงอปท. ในระดับ เทศบาล หรือ อบต. ที่เข้ามาช่วยจัดบริการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน โดยอยู่ในรูปแบบของการส่งคนมาฝึกอบรมกับสพฉ. และออกเหตุรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนที่ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.... คือระดับ จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา มี 5 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. อุบลราชธานี สงขลา มหาสารคาม และลำพูน โดยในปีนี้จะมีจ.สระแก้ว และสุพรรณบุรีเพิ่มเติม
นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีอุปสรรคสำคัญ คือ อปท.ขึ้นกับกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย และ ภารกิจของการแพทย์ฉุกเฉินไม่ได้อยู่บัญญัติในพ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ที่ให้กระจายอำนาจในส่วนนี้ท้องถิ่นโดยตรง แต่บัญญัติเพียงการรักษาพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นการรับผู้ป่วยโดยรถฉุกเฉินของอปท. ทำให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.) เห็นว่าไม่ใช่ภารกิจของอปท. ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ตีความว่าการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล เพราะไม่ใช่เพียงรับผู้ป่วยไปส่งเฉยๆ แต่ระหว่างการส่งผู้ป่วยนั้นก็มีการรักษาพยาบาลไปด้วย
"หลักเกณฑ์นี้จะทำให้อปท. สามารถที่จะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ ทั้งในแง่ของบุคลากร การจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือ พาหนะ และการบูรณการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ถูกต้องชัดเจน และท้องถิ่นเองจะได้มีความมั่นใจดูแลประชาชน ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตซึ่งถือว่ามีความที่จำเป็นอย่างมาก ที่ประชาชน ต้องอยู่รอดก่อน ถึงจะอยู่ได้ และอยู่สบาย"รองเลขาธิการสพฉ.กล่าว
นายแพทย์ไพโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า สพฉ.ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนอปท.ดำเนินการและให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อดำเนินการการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว อปท.จะได้รับการอุดหนุนตามกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย