กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สปาร์ค คอมมูนิเคชั่น
บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) จัดแคมเปญ ครอบครัวปลอดภัย รู้ทัน ป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจถึงถึงผลกระทบของโรคไข้เลือดออก และมุ่งตอกย้ำมาตรการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งในบ้าน สถานที่ทำงาน รวมทั้งในชุมชน พร้อมคว้าตัวครอบครัวนักแสดง ป๋อ-ณัฐวุฒิ และ เอ๋-พรทิพย์ เชิญชวนทุกคนใส่ใจสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยในวันงาน 'ครอบครัวสกิดใจ'พาสมาชิกตัวน้อยของครอบครัวอย่างน้องเภา-ภูมิธนินท์ ร่วมสร้างสีสันให้กับงานเปิดตัวด้วย
นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ภายในงาน บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) ได้เชิญ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มาไขข้อข้องใจ และตอบคำถามเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกอย่างเจาะลึกทุกประเด็น โดยคุณหมอได้แนะนำถึง การสังเกตอาการสำคัญในระยะแรกคือ ไข้สูง ปวดหัว ปวดตัว อาจร่วมกับการเบื่ออาหาร และคลื่นไส้ในระยะแรก บางคนมีจุดแดงเล็กๆใต้ผิวหนัง กระทั่งเลือดกำเดาไหลหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเนื่องจากเลือดออกจากทางเดินอาหาร
นอกจากนี้แล้ว โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) โดยยุงลายจะเป็นพาหะ ไวรัสเดงกี่มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ และพบการระบาดในไทยทั้ง 4 สายพันธุ์ ดังนั้นคนไทยจึงสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในช่วงหน้าฝนคือช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ในปัจจุบันยังไม่พบยารักษาโดยตรง เพียงแค่รักษาตามอาการเท่านั้น สิ่งควรระวังคือ การเลือกใช้ยาลดไข้ ห้ามให้ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟนเพราะอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร และแอสไพรินมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดการเลือดออกจากกระเพาะอาหารได้มากขึ้น ควรเลือกใช้ตัวยาพาราเซตามอลแทน และในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกินขนาดเพราะอาจส่งผลเสียต่อตับ
คุณป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า "โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่ใกล้ตัวครอบครัวคนไทยทุกคน ดังนั้น หน้าที่ของผมและครอบครัว คือ การช่วยสื่อสารเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในอาการของโรคไข้เลือดออก และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และในฐานะที่ผมเป็นทั้งพ่อ และหัวหน้าครอบครัว ก็ยิ่งต้องคอยระวัง และคอยสังเกตอาการของคนใกล้ตัว รวมถึงการดูแลเบื้องต้นที่ถูกต้อง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กอย่างเช่นครอบครัวผม เรายิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา"
เพื่อให้การป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการสำคัญคือทุกครอบครัวต้องร่วมด้วยช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดย นพ. มนูญ ได้ให้คำแนะนำว่า "ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันไข้เลือดออกด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เก็บขยะและภาชนะที่มีน้ำขัง ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำในอ่างหรือสระน้ำ ปิดฝาโอ่งน้ำ ทำความสะอาดบ้าน พกครีมหรือสเปรย์ยากันยุง นอนในบ้านที่ห้องนอนมีมุ้งลวดหรือกางมุ้งนอน รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก"
คุณเอ๋ พรทิพย์ สกิดใจ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราเรียนเกี่ยวกับไข้เลือดออกมาตั้งแต่เด็ก แต่คนไทยอีกหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาลดไข้ต่างๆ เช่น แอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน ที่ทำให้อาการผู้ป่วยไข้เลือดออกรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเอ๋ได้รับการแนะนำจากคุณหมอมาตลอด ตั้งแต่ตั้งครรภ์น้องภูว่า เราควรใส่ใจอาณาบริเวณรอบๆ บ้าน หมั่นรักษาให้สะอาดอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของยุงได้ เพราะถ้าหากเป็นไข้เลือดออกขณะตั้งครรภ์ โรคนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกเราได้ด้วย ถ้าหากน้องภู หรือ น้องเภา เริ่มมีอาการไม่สบาย หรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดดออก เอ๋จะรีบพาไปหาหมอทันที"
ครอบครัวสกิดใจยังได้ฝากทิ้งท้ายว่า เราสามารถเริ่มต้นสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้อย่างง่ายๆและเริ่มต้นได้เองภายในครอบครัว ทั้งควรหมั่นหาความรู้ และเข้าใจอาการเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้คนไทย เพื่อร่วมกันปกป้องคนใกล้ชิดจากโรคร้ายนี้