บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เคาะราคา IPO หุ้นละ 7.70 บาท รุกขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและญี่ปุ่น หนุนการเติบโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 15, 2017 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ (Holding Company) เคาะราคาจองซื้อหุ้น IPO 7.70 บาทต่อหุ้น หลังนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการซื้ออย่างท่วมท้น เตรียมเปิดจองซื้อวันที่ 18-20 กันยายนนี้ และคาดเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ชูจุดเด่นด้านการบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ และการเติบโตจากการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายการลงทุนเป็น 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยที่ COD แล้ว 1 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่นหรือ SSP ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และแต่งตั้ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด บล.ธนชาต จำกัด (มหาชน) บล. ทิสโก้ จำกัด และ บล.ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ SSP ในครั้งนี้ นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในนามตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากที่สำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 12-14 กันยายน 2560 ปรากฏว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความสนใจซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 7.70 บาท และมีความต้องการซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ จึงได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 7.70 บาท ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 18-20 กันยายนนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ปัจจุบัน SSP มีทุนจดทะเบียน 922,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 922,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 691,625,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 276,375,000 หุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำนวน 230,375,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (Unity I. Capital Limited) จำนวน 46,000,000 หุ้น รวมคิดเป็นร้อยละ 30 ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ สำหรับ SSP ดำเนินธุรกิจเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี ที่เข้าลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ มีธุรกิจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น โดย SSP จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่อยู่ระหว่างพัฒนาและโครงการในอนาคต นอกจากนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP กล่าวว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ในจังหวัดลพบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm โดยมีอายุของสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่ม COD และมีโครงการในประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างอีก 1 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ อผศ. ในจังหวัดราชบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 5 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 25 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/61 ขณะเดียวกัน ได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นอีก 5 โครงการ ผ่าน SEG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นในฮ่องกง ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมทั้งสิ้น 93 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 47 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย 1.โครงการฮิดะกะ ในจังหวัดฮอกไกโด ปริมาณพลังงงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 17 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/61 และ 2.โครงการยามากะ ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบFiT ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวว่า ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างมีจำนวน 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 36 เมกะวัตต์ คือ 1.โครงการโซเอ็น ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 6 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/61 และ 2.โครงการลีโอ ในจังหวัดชิซุโอกะ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาขั้นต้นอีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการยามากะ 2 ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 10.0 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63 ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ SNNP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในจังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 384 กิโลวัตต์ และโครงการ SNNP 2 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างในจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 998 กิโลวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราตามค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจาก กฟภ. และค่า Ft ขายปลีกเฉลี่ย โดยมีบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเป็นเวลา 25 ปี คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะ COD ในไตรมาส 4/60 "เราให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับสู่บริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม" นายวรุตม์ กล่าว นางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวว่า บริษัทฯ มีจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพและสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลือกสถานที่ตั้งโครงการ ที่จะต้องมีค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับที่เหมาะสม มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดี ไม่มีข้อจำกัดด้านการเชื่อมโยงระบบเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ SSP อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีนโยบายที่จะขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ธุรกิจออกแบบ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ รับก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจผลิตและ/หรือจัดหาวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงชีวมวล ให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวภาพ ชีวมวล เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ