กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 12 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี พ.ศ. 2560 ของกรมชลประทาน ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (รอบที่ 2) โดยให้ดำเนินการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2560 - 2561 เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกับกับกรมชลประทาน พบว่า กรมชลประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี พ.ศ. 2560 ตามแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ. 2560 ให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร จำนวน 15.95 ล้านไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 0.265 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรได้ดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว สำหรับการส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1.15 ล้านไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันเกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 0.69 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายน 2560 ทั้งนี้ ได้กำหนดใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าว ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พบว่า พื้นที่นาซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วบางส่วนยังคงมีน้ำคงค้างอยู่ในทุ่ง ทำให้สามารถดำเนินการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2560 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะสูงกว่าค่าปกติ หากทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และนนทบุรี ใช้กลไก "ประชารัฐ" ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวนาปรัง ปี พ.ศ. 2560 – 2561 รอบ 2 (นาปีต่อเนื่อง) โดยให้ดำเนินการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2560 - 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี พ.ศ. 2560 ของกรมชลประทาน และมีพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย