กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--นิปปอน คอมมิวนิเคชั่นส์
บริษัทไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TGPRO) ผู้นำผลิตท่อและแผ่นสเตนเลสรายใหญ่ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวท่อสเตนเลสนวัตกรรมใหม่ เพิ่มการผลิตได้ 20% คุ้มค่ากับพลังงานที่ใช้ ภายใต้ชื่อ "EXTUBA TURBO TUBE ท่อเพิ่มสมรรถนะการถ่ายเทความร้อน" พร้อมเผยความคืบหน้า เตรียมรุกตลาดเต็มสูบ นำเข้าเครื่องจักรจากอิตาลี เสริมทัพภาคการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ จำนวน 10-11 เครื่อง รวมมูลค่ากว่าพันล้าน ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตให้ได้ 4,000 ตันต่อเดือน ( จาก 1,000 ตัน/เดือน) รองรับการเติบโตของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่องทั้งใน และต่างประเทศ ปัจจุบัน TGPRO มีสัดส่วนรายได้การส่งออกต่างประเทศ และในประเทศ อยู่ที่ 30% และ70% ซึ่งสินค้าใหม่จะอยู่ใน กลุ่มสินค้าท่อสเตนเลสเพื่ออุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนความร้อน ในหมวดนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% คาดว่าเทรนด์ของมาตรฐาน ความปลอดภัย และความคุ้มค่าในอนาคต จะทำให้สินค้าใหม่ได้รับความนิยม มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาแตะ 40% ของรายได้รวมทั้งหมด
คุณรชต ลีลาประชากุล กรรมการผู้จัดการ
"เราอยู่ในธุรกิจนี้มีมากกว่า 40 ปี เป็นโรงงานผลิตท่อและแผ่นสเตนเลส โรงงานแรกในไทย ปัจจุบันยังเป็นโรงงานเดียวที่สามารถผลิตท่อสเตนเลสคุณภาพสูงได้ มากมายหลายขนาด ป้อนทุกอุตสาหกรรม ปัจจุบันเรามีลูกค้ากว่า 600 ราย ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาหารและยา ก่อสร้าง เกษตร กระดาษ และเครื่องดื่ม ต้องการจะซื้อสินค้าจาก TGPRO แต่เนื่องจากกำลังการผลิตที่มีเพียง 1,000 ตันต่อเดือน ไม่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้ารายใหม่ได้ เป็นเหตุผลให้ต้องติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มรวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท"
"เรายังมองไม่เห็นว่าอนาคตจะมีอะไรที่ดีกว่ามาทดแทนท่อสเตนเลส จึงพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบอื่นๆ โดยร่วมกับนักวิชาการศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ ภาควิชาวิศวเครื่องกล คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมได้ผลวิจัยว่าท่อสเตนเลสแบบใหม่ คือ แบบเกลียว มีคุณสมบัติแลกเปลี่ยนความร้อนได้ดีกว่าและช่วยเพิ่มอัตราการผลิตได้มากกว่า 20% (เมื่อเทียบกับท่อสเตนเลสแบบเรียบ) ราคาอาจจะสูงกว่าสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์"
ทั้งนี้ TGPRO มีสัดส่วนรายได้การส่งออกต่างประเทศ และในประเทศ อยู่ที่ 30% และ70% ซึ่งสินค้าใหม่ ท่อเกลียวสเตนเลส EXTUBAจะอยู่ใน กลุ่มสินค้าท่อสเตนเลสเพื่ออุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนความร้อน ในหมวดนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น กลุ่มสินค้าท่อสเตนเลสเพื่อตกแต่ง 30-40% ท่อสเตนเลสเพื่ออุตสาหกรรม 30% และท่อสเตนเลสเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม 30% และจากเทรนด์ของมาตรฐาน ความปลอดภัย และความคุ้มค่า ในอนาคตคาดว่าท่อชนิดใหม่แบบเกลียวจะเป็นความต้องการของตลาด ทำให้สัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาแตะ 40% ของรายได้รวมทั้งหมด
ด้าน ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ ภาควิชาวิศวเครื่องกล คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สัมภาษณ์
จากการทดลองและวิจัยสมรรถนะการถ่ายเทความร้อน ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบจุดเด่นและคุณสมบัติของท่อสเตนเลสแบบเกลียว EXTUBA ตามลำดับดังนี้ 1. การสร้างครีบร่องเกลียว การสร้างครีบร่องเกลียวภายในท่อ ส่งผลให้ผนังท่อนั้นมีพื้นที่ผิวสำหรับแลกเปลี่ยนความร้อนสูงขึ้นกว่า 30% ทำให้จำนวนท่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นน้อยลง ขณะที่สมรรถนะในการถ่ายเทความร้อนนั้นเท่าเดิม ทำให้ขนาดของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนนั้นเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด มีความกะทัดรัดมากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนนั้นลดลงได้
2. สัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนที่เพิ่มขึ้น ลักษณะของครีบร่องเกลียวที่หมุนไปในทางเดียวกันตลอดทั้งท่อ ช่วยเพิ่มอัตราการไหลวนและความปั่นป่วนของของไหลที่บริเวณผนังท่อด้านใน ทำให้ชั้นของ Thermal Boundary Layer นั้นบางลง ส่งผลให้ความต้านทานความร้อนลดลง ทำให้สมรรถนะการถ่ายเทความร้อนสูงขึ้น โดยค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อน (Heat transfer Coefficient) นั้นสูงขึ้นประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับท่อธรรมดาทั่วไป 3.ความแข็งแรงได้มาตรฐาน การสร้างครีบร่องเกลียวนั้น ส่งผลให้ท่อมีความแข็งแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผนังท่อในส่วนที่บางลงนั้นกลับส่งผลดีต่อการถ่ายเทความร้อนจากผนังท่อไปสู่ของไหล เพราะความต้านทานความร้อนผ่านผนังท่อจะลดลง ทำให้สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดียิ่งขึ้น 4.ผ่านการทดสอบมาตรฐานสากล ท่อทุกเส้นที่ผลิตขึ้นมานั้นจะต้องผ่านการทดสอบ โดยใช้แรงดันลมและแรงดันน้ำ ตามมาตรฐานสากล อาทิ ASTM (American Society of Testing Materials), PED (Pressure Equipment Directive) จากสถาบัน BUREAU VERTA's
ท้ายสุด คุณรชต เผยว่า "TGPRO มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตให้ได้ 4,000 ตันต่อเดือน ภายในปีหน้า เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องทั้งใน และต่างประเทศ โดยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีโอกาสจากการซื้อขายสินค้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษีคู่แข่งต่างๆ เช่น โรงงานสเตนเลสในประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ไม่ได้มีขนาดใหญ่ ผลิตสินค้าได้ไม่ครบ ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสของ TGPRO ที่จะผลิตท่อสเตนเลสสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมส่งเข้าไปจำหน่าย เพราะพบว่าปริมาณความต้องการสเตนเลสในภูมิภาคนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก อนึ่งปัจจุบัน บริษัทใช้กำลังการผลิตเพียง 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมด หรือเดินเครื่องเพียงแค่กะเดียว และยังไม่ได้เดินเครื่องเต็มที่ตลอด 24 ชม.