กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
กรุงเทพฯ จะเป็นสถานที่จัดงานประชุมสุดยอดครั้งพิเศษในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีผู้ทำงานด้านเอชไอวีและด้านสุขภาพกว่า 300 ท่านจากทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกเดินทางมาร่วมงาน เพื่อพัฒนาแผนกลยุทธ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคนี้และแก้ไขผลกระทบต่อชุมชนที่เปราะบาง
งานประชุม Rights, Resources and Resilience Asia Pacific (RRRAP Summit) จะจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน โดยจะเป็นงานประชุมสุดยอด 3 วัน และต่อด้วยงานสัมมนาของชุมชนต่างๆ และการวางแผนเชิงกลยุทธ์อีก 2 วัน นอกจากนั้น ก่อนที่จะจัดงานประชุมสุดยอดนี้ จะมีการจัดงานมอบรางวัล HERO Awards ซึ่งเป็นงานกาล่าพิเศษเพื่อระดมเงินทุนและเพื่อยกย่องผู้ที่อุทิศตนรณรงค์เรื่องเอชไอวี/เอดส์และเพื่อสุขภาพของชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ เลสเบี้ยน (Lesbian) ชายรักชายหรือเกย์ (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) และคนข้ามเพศ (Transgender) หรือที่เรียกว่า "LGBT" ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
งาน RRRAP Summit จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ โดยเป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านสุขภาพทางเพศของผู้ชาย หรือมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนทำงานด้าน HIV และ LGBT ชั้นนำในภูมิภาคนี้ ซึ่งในปีนี้จะครบรอบ 10 ปีที่มูลนิธิแอ็พคอมดำเนินงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก มูลนิธิแอ็พคอมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 หลังจากที่จัดการประชุมสุดยอด Right & Responsibilities Summit ที่ประเทศอินเดียเมื่อปี 2549 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือกันในภูมิภาคนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (Men who Have Sex with Men: MSM) และกลุ่มคนข้ามเพศ
คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ๊พคอม กล่าวว่า แม้ว่าเราจะคืบหน้าไปได้มากแล้วนับตั้งแต่เริ่มต้น แต่การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกยังคงเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชุมชนที่เปราะบางเหล่านี้ ซึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่ 300,000 ราย พบว่าในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายถึงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งนักวิจัยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นต่อไปทุกปีภายในปี 2563
"กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและกลุ่มคนข้ามเพศในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเชื้อเอชไอวี" คุณมิดไนท์กล่าว "กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ และจาการ์ต้า พบว่ามีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีถึง 1 ใน 3 ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์ กว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นกลุ่มชายรักชาย ในบางเมืองของประเทศอินเดีย กลุ่มประชากรที่เป็นคนข้ามเพศถึงครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี"
"ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็ตาม เราไม่อาจยอมรับได้ที่เห็นการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในระดับนี้ในกลุ่มคนเหล่านี้ ถ้าเราอยากจะทำให้บรรลุเป้าหมายของสำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ในการยุติการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคของเราภายในปี 2573 เราจะต้องทบทวนวิธีการที่เราใช้ใหม่ และดำเนินแผนกลยุทธ์ที่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำพาให้ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกเข้าใกล้เป้าหมายสู่อนาคตที่ยั่งยืนในการเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากเชื้อเอชไอวี และทำให้ผู้คนเปิดใจยอมรับกลุ่มคนที่มีเพศภาวะและเพศวิถีหลากหลายทุกๆ กลุ่ม ซึ่งงานประชุมสุดยอด RRRAP Summit จะกล่าวถึงเรื่องทั้งหมดเหล่านี้"
นายเดเด้ โอเอโตโม (Dede Oetomo) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาค (Regional Advisory Committee) มูลนิธิแอ็พคอมกล่าวว่า วาระการประชุมของงานประชุมสุดยอดในครั้งนี้ จะเน้นไปที่การสำรวจ การประเมิน และการจุดประกายประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและกลุ่มคนข้ามเพศในอนาคต
"ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานประชุมสุดยอดครั้งแรกเมื่อปี 2549 ด้วย แต่น่าเศร้าที่ปัญหาต่างๆ มากมายที่เราหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่" นายเดเด้กล่าว "ยกตัวอย่างเช่น การใช้ความรุนแรง การถูกตีตรา และการเลือกปฏิบัติที่กลุ่ม LGBT จำนวนมากรู้สึกถึง และชุมชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการมอบการดูแลและความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ"
"ปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีน้อย การเข้าถึงบริการและการรักษามีจำกัด และมีการใช้สารเสพติดมากขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและกลุ่มคนข้ามเพศ รวมไปถึงการที่รัฐบาลในภูมิภาคนี้ไม่เข้ามามีส่วนร่วมและการตัดงบช่วยเหลือระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสมากมายที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการป้องกัน การรักษา และการทดสอบ การสร้างช่องทางในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ความรู้และขับเคลื่อนนโยบายและการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิตอล รวมไปถึงการร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการ นักวิจัย และประชาสังคม
"งานประชุมสุดยอด RRRAP Summit จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่บรรดาสมาชิก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีอิทธิพล กลุ่มคนที่ทำงานด้านเอชไอวี กลุ่ม LGBT และกลุ่มสิทธิมนุษยชนจะได้นำความรู้ ความสามารถ และเครือข่ายของตนเองมาร่วมกันผลักดันภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของเราในภูมิภาคนี้"
หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ มูลนิธิแอ็พคอมจะพัฒนาแผนงานที่ครอบคลุมสำหรับภูมิภาคนี้เพื่อช่วยให้การรับมือกับความต้องการและปัญหาที่สำคัญต่างๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมงานนำเสนอ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
งาน RRRAP Summit ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากองค์กรระดับสากลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation), สมาคมเอดส์สากล (International AIDS Society), โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme), กองทุนเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์, วัณโรค และ มาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria), มูลนิธิการวิจัยด้านโรคเอดส์ (amfAR), มูลนิธิเอลตัน จอห์น เพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ (Elton John AIDS Foundation), Aidsfonds, Voice และ Initiative 5% ส่วนพันธมิตรร่วมจัดงานรายอื่นๆ จะประกาศให้ทราบก่อนถึงวันจัดงาน
รายละเอียดเกี่ยวกับวาระการประชุมและวิทยากรที่จะเข้าร่วมการประชุม จะประกาศให้ทราบในต้นเดือนกันยายน 2560 หากต้องการรับข่าวสารอัพเดทหรือต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน โปรดเข้าชมที่ www.apcom.org/RRRAP
ขอเชิญชวนสมาชิกของชุมชนต่างๆ นักวิจัย ผู้วางนโยบาย และผู้ทำงานด้านสุขภาพ ร่วมนำเสนอวาระการประชุมโดยเสนอแนะเนื้อหาและวิทยากรที่จะเข้าร่วมการประชุมได้ที่RRRAP@apcom.org
ข้อมูลการจัดการประชุม RRRAP
วันจันทร์ที่ 13 – วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560
โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ ประเทศไทย (ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับส่วนลดค่าห้องพักพิเศษ)
RRRAP Summit: 13 – 15 พฤศจิกายน ค่าเข้างาน 150 เหรียญสหรัฐ (จองล่วงหน้า ราคา 120 เหรียญสหรัฐ)
Community RRRAP: 16 – 17 พฤศจิกายน ค่าเข้างาน 100 เหรียญสหรัฐ (จองล่วงหน้า ราคา 80 เหรียญสหรัฐ)
www.apcom.org/RRRAP