กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว "ภูเก็ตล็อบสเตอร์: ระบบเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีที่มีสารโอเมก้า-3 แบบครบวงจร" โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงบ้านเกาะโหลน ภูเก็ต กรมประมง จังหวัดภูเก็ต และ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการสร้างต้นแบบระบบเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีที่มีโอเมก้า-3 แบบครบวงจร ที่มีการเชื่อมโยงในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการชุมชน ให้สามารถประยุกต์ใช้การทำประมงได้อย่างยั่งยืน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กล่าวว่า "สนช. ได้ริเริ่มยุทธศาสตร์ใหม่ นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ในการนำนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสังคม และมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมุ่งให้เกิดการคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ เพื่อสนองความต้องการของสังคมหรือชุมชนมากกว่าการมุ่งสร้างผลกำไรในเชิงธุรกิจคืนสู่องค์กร โดยแผนการดำเนินงานด้าน "วิสาหกิจนวัตกรรมเชิงสังคม" จึงเป็นแผนงานที่สำคัญ ด้วยการวางรากฐานการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมชุมชนให้สามารถแข่งขันได้และมีความยั่งยืน ดังเช่นตัวอย่างในโครงการนี้ สนช. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงบ้านเกาะโหลน ภูเก็ต เพื่อดำเนินโครงการนวัตกรรม "ภูเก็ต ล็อบสเตอร์: ระบบเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีที่มีสารโอเมก้า-3 แบบครบวงจร" โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของท้องถิ่นในระบบปิด ทำให้ลดระยะเวลาการเลี้ยงจากเดิม 1 ปี เหลือ 6 เดือน รวมทั้งเพิ่มอัตราการรอด ตลอดจนการสร้างเขตอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์กุ้ง อนุบาลลูกกุ้ง และคืนลูกกุ้งมังกรเจ็ดสีสู่ทะเลชุมชน สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยอาศัยฐานข้อมูลงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐของไทยและต่างประเทศ"
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า "โครงการต้นแบบระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรนี้ เป็นการดำเนินงานสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัด ในการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรประมงพื้นบ้าน มีการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกร ในปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งมังกรเพียง 47 ราย ในจังหวัดภูเก็ต ผลิตได้เพียงไม่ถึง 10 ตันต่อปี ซึ่งมีความต้องการถึง 7,000 ตันต่อปี ดังนั้นการพัฒนาเพาะเลี้ยงกุ้งมังกร นับได้ว่าจะเป็นการสร้างรายได้และการกระจายรายได้มาสู่พี่น้องประชาชน และจะสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของชุมชนได้ด้วย นับได้ว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ในความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตามรูปแบบของประชารัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจของชุมชน โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นตัวนำ ในการกระจายรายได้มาถึงเกษตรกรประมงพื้นบ้านแล้วให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ"
ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวสนับสนุนว่า "ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต ร่วมกีชับ จังหวัดภูเก็ต จัดเทศกาลกินกุ้งมังกร "Phuket Lobster Festival เจ้าถิ่นพากินกุ้งมังกร" ซึ่งจัดเป็นประจำประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยร้านอาหารชื่อดังร่วมดำเนินงานในการประชาสัมพันธ์ "กุ้งมังกรเจ็ดสี" ของดีของเด่นในเกาะภูเก็ตให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเพื่อส่งเสริมกลุ่มผู้เลี้ยง
กุ้งมังกรในพื้นที่ คาดจะทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ปัญหาสำคัญคือปริมาณการผลิตต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงนาน ทำให้ผลผลิตยังออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นถ้าสามารถสร้างระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีได้ในระยะเวลาสั้น รวมทั้งสร้างจุดเด่นที่มีสารโอเมก้า 3 เหมือนกับการบริโภคจากปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งจะทำให้เพิ่มเอกลักษณ์ที่แตกต่างให้กับกุ้งมังกรเจ็ดสีของประเทศไทย สามารถสร้างความสามารถไปแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ"
นายศิวกร ไชยภักดี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงบ้านเกาะโหลน ภูเก็ต กล่าวว่า "ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชน เพาะเลี้ยงหรือขุนกุ้งมังกรในกระชัง ซึ่งพบปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาการตายของกุ้งมังกรเนื่องจากการสำลักน้ำเมื่อเกิดคลื่นลมแรงในทะเล และอัตราการเจริญเติบโตช้า ซึ่งปกติจะต้องเพาะเลี้ยงถึง 1 ปี จึงมีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับส่งขายในตลาดได้ โดยปัญหาที่สำคัญคือ ในปัจจุบันการจับลูกกุ้งมังกรได้น้อยลง จึงมีการนำเข้าและลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น พม่า อินโดนีเซีย ซึ่งพบว่ามีการติดโรคและอัตราการรอดต่ำมาก นอกจากนี้จากการขยายตัวของเมืองภูเก็ตส่งผลให้แหล่งอนุบาลของลูกกุ้งมังกร ดังนั้นการดำเนินโครงการนี้ จะเป็นการตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรได้อย่างตรงจุด ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงในระบบปิด ที่จะทำให้ลดระยะเวลาการเลี้ยงลงเหลือแค่ 6 เดือน และควบคุมการให้อาหารให้มีสารสำคัญในกุ้ง รวมทั้งมีผลพลอยได้เป็นสาหร่ายพวงองุ่น (Phuket green caviar) ตลอดจนการสร้างเขตทะเลชุมชนที่จะทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้ง เกิดเป็นแหล่งผลิตลูกกุ้งที่นำไปเพาะเลี้ยงได้อย่างยั่งยืน และสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจจะร่วมมือร่วมใจกับผู้เชี่ยวชาญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทีมงาน ร่วมสนับสนุนเทคโนโลยีในโครงการต้นแบบนี้ ให้เป็นตัวอย่างและศูนย์การเรียนรู้ให้กับเพื่อนชาวประมง อีกทั้งสร้างโอกาสด้านธุรกิจการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัด เพื่อชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรจะได้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืนและคืนภาวะสมดุลให้กับธรรมชาติ"