ชี้โครงการระยะยาวสร้าง "นักวิทยาศาสตร์" เพื่อรองรับอนาคตชาติ ต้องจัดระบบการศึกษาฟูมฟักต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนจบปริญญา

ข่าวเทคโนโลยี Monday February 26, 2001 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--สสวท.
นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นปัญหารีบด่วนต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ปัจจุบันทราบกันดีว่าประชากรไทย 10,000 คน มีนักวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เพียง 2 คนเท่านั้น ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นมีประมาณ 80 คน ออสเตรเลีย 40 คน เกาหลี 40 คน และสิงคโปร์ 30 คน ซึ่งถ้าจะให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ภายใน 20 ปีข้างหน้าเราจำเป็นต้องเพิ่มการสร้างนักวิทยาศาสตร์อย่างเร่งด่วนจำนวนมาก
การสร้างนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับอนาคตชาติ ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเด็กที่มีความสามารถพิเศาตั้งแต่เล็กๆ ต่อเนื่องถึงประถมต้นไปจนอุดมศึกษาเฉพาะอย่างยิ่งเตรียม"อาชีพ" ไว้รองรับหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งต้องทำอย่างเป็น "ระบบ" เพื่อสร้างศักยภาพและส่งเสริม"ค่านิยม" การเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
"ในส่วนของเด็กเล็กนั้น มีทั้งกลุ่มที่สังเกตเห็นความสามารถพิเศษตั้งแต่เล็ก กับกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษทว่ายังไม่แสดงให้ปรากฏ กลุ่มหลังนี้เราต้องให้คำแนะนำผู้ปกครองให้ทำกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กแสดงความสามารถออกมา ซึ่งจะสามารถให้การส่งเสริมได้ถูกต้อง โดยต้องเตรียมระบบการศึกษารองรับอย่างเหมาะสม เริ่มจากระดับประถมต้น โรงเรียนและครูควรจัดกิจกรรมต่างๆ หนุนและกระตุ้นให้เด็กกลุ่มหลังแสดงความสามารถออกมาได้อย่างอิสระ พอถึงประถมปลายควรมีกิจกรรมที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมค่ายเป็นตัวสนับสนุนหลักสูตร
ส่วนระดับมัธยมต้น-ปลาย ต้องจัดให้มีกิจกรรมมากขึ้น เข้มข้นขึ้น สอดรับกับวัยที่เรียนรู้ได้รวดเร็ว หากเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์มีจำนวนมากต้องจัดห้องเรียนพิเศษเป็นการสนับสนุนอย่างได้ผล ตลอดจนให้ศึกษาในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยเกิดมีขึ้นแล้วเป็นตัวอย่างคือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ขั้นต่อมาหลังจบมัธยมควรให้สิทธิ์เด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องสอบ แบบเดียวกับโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ (พสวท.) ซึ่ง สสวท. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 ณ ปัจจุบันสามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์ปริญญาตรี โท เอก เป็นกำลังสำคัญในหน่วยงานวิจัยหลายแห่งได้แล้วประมาณ 200 คน ในสาขาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และธรณีวิทยา--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ