กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--เอสซีจี
เอสซีจีผสานพลังชุมชนคนขอนแก่นร่วมกิจกรรม "รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย" ณ จังหวัดขอนแก่น ส่งมอบองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำและการสร้างฝายชะลอน้ำให้กับชุมชน เพื่อขยายผลในพื้นที่ตนเองอย่างเหมาะสม สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรม "รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย" เป็นการสืบสานพระราชปณิธานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากที่ได้นำตัวแทนชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำที่จังหวัดลำปาง และแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีความรู้แล้วนำกลับมาดำเนินการต่อในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง
ณ พื้นที่ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่น้ำขาดน้ำแล้ง ชาวบ้านอาศัยน้ำตามฤดูกาล ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ชาวบ้านต้องอพยพหนีความแห้งแล้งไปนอกพื้นที่ จากการร่วมเดินทางไปกับ "รักษ์น้ำ The Journey" ตัวแทนชุมชนจึงได้รับความรู้ความเข้าใจและจุดประกายการทำฝายชะลอน้ำเป็นครั้งแรก
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวถึงแนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในหลายๆ พื้นที่ เพราะฝายชะลอน้ำทำให้พื้นดินชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำบางส่วนให้อยู่ในพื้นที่ได้นานที่สุด เมื่อมีน้ำและสามารถเก็บน้ำไว้ได้ ก็ทำให้เพาะปลูกได้ผลผลิตดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา เหมือนอย่างชุมชนต้นแบบในจังหวัดลำปางที่เอสซีจีได้พาไปเรียนรู้
"สำหรับกิจกรรมที่ตำบลม่วงหวานในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นคืนความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำของชุมชน ซึ่งจากนี้ทางชุมชนก็ได้ร่วมกันวางแผนที่จะจัดทำแก้มลิง และเชื่อมต่อระบบน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างพอเพียงในอนาคตอีกด้วย ซี่งตรงตามแนวทางพระราชดำริ "หาน้ำให้ได้" "เก็บน้ำไว้ใช้"และ "ใช้น้ำให้เป็น" นายธนวงษ์กล่าว
นายประสาท จันทรวิเศษ ผู้ช่วยกำนัน หมู่ 2 บ้านสระกุด ต.ม่วงหวาน เล่าว่า เดิมทีเมื่อพูดถึงฝาย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ ต่างคนต่างสร้างฝายกันเองตามภูมิปัญญาชาวบ้าน พอได้ไปเรียนรู้กับทางเอสซีจี จึงเกิดความเข้าใจ "ฝายชะลอน้ำ" รวมถึงเห็นประโยชน์ของการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นอีกแนวทางของการอนุรักษ์น้ำ ที่สามารถช่วยชะลอน้ำและเก็บกักความชื้น คืนความสมบูรณ์ให้น้ำใต้ดิน "พอไปเห็นพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่เคยเป็นเขาหัวโล้นแห้งแล้งสามารถกลับเป็นพื้นที่สีเขียวได้ ทำให้มีความหวัง อยากให้ป่าบ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นแบบเขาบ้าง ชาวบ้านจะได้ไปหาของป่าและมีรายได้เสริม ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในต.ม่วงหวาน ที่ชาวบ้านจะร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ และจากนี้ผมก็จะรวมพลังชุมชนหาแนวร่วมต่อไป "
นายพิชาญ ทิพวงษ์ ผู้ประสานงานลุ่มน้ำชี คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่า ภูถ้ำ ภูกระแต มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสริมว่า พื้นที่อีสานส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำหลาก ต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นภาพรวม ต้องศึกษาภูมิประเทศ เข้าใจปัญหา โดยพื้นที่ตำบลม่วงหวานควรเริ่มต้นจากทำฝายชะลอน้ำ หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น สู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน
"สิ่งที่สำคัญต้องทำให้ชุมชนเห็นภาพรวมร่วมกัน รู้ว่าเขาทำแล้วได้อะไร ให้ความรู้ความเข้าใจเขา เชื่อว่าองค์ความรู้และประสบการณ์จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในการทำผังน้ำ การสำรวจเส้นทางน้ำ และวิเคราะห์ตัวเลขการใช้น้ำ จะช่วยเหลือให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต" นายพิชาญเสริม
การเดินทางของ "รักษ์น้ำ The Journey" ยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เอสซีจีสนับสนุนจุดประกายชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย ส่งเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน เสริมความเข้มแข็ง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป