กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ทกซูรี" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงวันที่ 16 – 18 กันยายน 2560 ดำเนินการภายใต้ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยเชิงรุก 2. การบูรณาการจัดการในภาวะฉุกเฉินทันท่วงที และ 3. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติถึงระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน "ทกซูรี" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่กับลมกระโชกแรง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 16 – 18 กันยายน 2560 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) การป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยเชิงรุก มุ่งเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำ เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เน้นการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะฝนตกหนัก และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบสภาวะความเสี่ยงภัยให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ผ่านกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประสานอาสาสมัครเตรียมพร้อมปฏิบัติการ ทั้งมิสเตอร์เตือนภัย อปพร. ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย ช่วยเหลือ และอพยพประชาชนทันทีที่เกิดอุทกภัย รวมถึงกำหนดแนวทางบูรณาการทรัพยากรด้านสาธารณภัย ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยของทุกหน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มีประสิทธิภาพ 2) บูรณาการจัดการในภาวะฉุกเฉินทันท่วงที โดยเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาสู่หน่วยปฏิบัติ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ สนธิกำลังแก้ไขปัญหา พร้อมกำหนดหน่วยรับผิดชอบ แบ่งมอบพื้นที่และภารกิจอย่างชัดเจน เพื่อชี้เป้าการปฏิบัติการให้เข้าถึงทุกพื้นที่ประสบภัย รวมถึงระดมสรรพกำลังกู้วิกฤตอุทกภัย โดยนำกำลังพลและทรัพยากรด้านสาธารณภัยของ ปภ. ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียงสนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยนำรถสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งในจุดที่มีน้ำท่วมขัง พร้อมขุดลอกลำรางสาธารณะเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ตลอดจนเชื่อมโยงการระบายน้ำบริเวณรอยต่อเส้นทางน้ำไหลครอบคลุมทุกจังหวัด 3) ช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติถึงระดับครัวเรือน เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม แจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ พร้อมให้บริการขนย้าย อพยพ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงเยียวยาผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ตลอดจนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้บูรณาการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุทกซูรีอย่างเต็มกำลัง รวมถึงปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที มั่นใจได้ว่า ประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด เพื่อให้ทุกชีวิตปลอดภัย