กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลโครงการ "การประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติด้านการดำรงชีพกรณีอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนำร่องของประเทศไทย : จังหวัดนครศรีธรรมราช" เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ รวมถึงเป็นแนวทางในการจัดทำกรอบการฟื้นฟูเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย อีกทั้งขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัยและผลักดันกลไกการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อบรรเทาปัญหาด้านภัยพิบัติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งการประเมินความต้องการของผู้ประสบภัยหลังเกิดสาธารณภัย เป็นการประมาณการความเสียหายทางกายภาพและสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยขนาดใหญ่ ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และอื่นๆ นับเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลโครงการ "การประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติด้านการดำรงชีพกรณีอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนำร่องของประเทศไทย" ในวันที่ 18 กันยายน 2560 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยได้คัดเลือกจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ประสานงานด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยระดับกระทรวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากกรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 40 คน เข้าร่วมประชุมฯ ในรูปแบบการแบ่งกลุ่มอภิปรายผลการประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติด้านการดำรงชีพ แบ่งเป็น กลุ่มข้าวและพืชสวน กลุ่มพืชไร่ กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบของ Supply chain ผลกระทบของกลุ่มเปราะบางในภาคแรงงาน และผลกระทบทางด้านอุตสาหกรรม จากผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติและผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติด้านการดำรงชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกรอบการฟื้นฟู เพื่อการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน นำไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติในประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย และผลักดันกลไกการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (พ.ศ. 2558 - 2573) ที่มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสาธารณภัย นำไปสู่การสร้างประเทศไทยให้รู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน