กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--เอสซีจี
เพราะไม่มีใครรู้จักชุมชน ดีไปกว่าคนในชุมชนเอง มูลนิธิเอสซีจีจึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ผ่านโครงการ "ต้นกล้าชุมชน" ซึ่งมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนและมีพี่เลี้ยงนักพัฒนาชี้แนะ โดยล่าสุดจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพต้นกล้าชุมชนให้ความรู้เรื่อง "การสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง" และศึกษาดูงานชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ณ จังหวัดตรัง
คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เล่าถึงโครงการนี้ว่า มูลนิธิเอสซีจีดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 พบว่า หลายชุมชนประสบปัญหาขาดคนมาสืบทอดงานชุมชน ทั้งเรื่ององค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตและวิถีชุมชน เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานในเมือง มูลนิธิฯ จึงริเริ่มโครงการ "ต้นกล้าชุมชน" ในปี พ.ศ. 2557 โดยหวังสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ นำคนหนุ่มสาวกลับคืนสู่ท้องถิ่น โดยมูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุน เบี้ยยังชีพ ค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี
"ปัจจุบันเรามีต้นกล้าชุมชนทั้งหมดจำนวน 3 รุ่น รวม 28 คน กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทำงานครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุข ตลอดจนเกษตรกรรม ต้องขอบคุณเหล่าพี่เลี้ยงนักพัฒนาทุกท่านที่มาร่วมกันบ่มเพาะต้นกล้า ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังจัดอบรมพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าควบคู่กันไปด้วย เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานให้ครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น" คุณสุวิมล กล่าวเสริม
สำหรับกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 1-3 และพี่เลี้ยงฯ รวม 39 คน ณ จังหวัดตรัง ได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด บรรยายให้ความรู้เรื่อง "การสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง" เพื่อให้ต้นกล้าและพี่เลี้ยงฯ นำไปปรับใช้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนให้แตกต่างน่าสนใจ มีเรื่องราวและมีจุดแข็ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นสี อ.นาโยง จ.ตรัง รวมทั้งมีกิจกรรมสัมพันธ์เพื่อสร้างบรรยากาศ และความเป็น "ครอบครัวต้นกล้าชุมชน" ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการทำงานทางสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต
ต้นกล้าเก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม เจ้าของโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก เล่าถึงประสบการณ์การเป็นต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 ว่า โครงการของตนเป็นงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ เน้นที่เด็กม.ปลาย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต โดยบ่มเพาะให้เด็กๆ รักธรรมชาติและหวงแหนสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดค่ายเยาวชนให้ความรู้ เป็นห้องเรียนธรรมชาติสัญจร มีกิจกรรมถ่ายภาพ การทำผ้ามัดย้อม การทำสมุดผ้า หรือการทำเวิร์กช็อปต่างๆ เพราะเป็นงานที่ทำให้เด็กได้รวมกลุ่ม สร้างความต่อเนื่องในการทำงาน เกิดเป็นพลังเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิด "ตอนกิจกรรมปฏิบัติการ 4ม. ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง ในช่วงวันหยุดยาวที่คนนิยมขึ้นไปเที่ยว พลังเยาวชนที่เราสร้างขึ้น ก็ออกมาช่วยกันรณรงค์ถือป้ายประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆ" ต้นกล้าเก่งยกตัวอย่าง
"ผมและเพื่อนๆ พี่น้องสายคนทำงานเพื่อสังคมขอบคุณโครงการนี้ ที่เห็นคุณค่าของคนทำงานภาคประชาสังคม ที่ให้โอกาสคนทำงาน เพราะมันเป็นการสร้างโอกาสให้อีกหลายชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับชุมชนสังคมอย่างยั่งยืน" ต้นกล้าเก่งทิ้งท้าย
ด้านต้นกล้าหญิง พฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการสืบสานพันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร จ.ลำพูนกล่าวเสริมว่า "หญิงชอบโจทย์ของโครงการต้นกล้าชุมชน เพราะไม่มีโครงการไหนที่จะให้ความสำคัญกับการที่ให้คนรุ่นใหม่ได้กลับบ้าน กลับไปเติบโต กลับไปทำงานพัฒนาในชุมชนของตัวเอง ซึ่งตรงใจ ตรงกับช่วงวัยที่เราอยากกลับไปอยู่บ้าน"
ต้นกล้าหญิงเล่าถึงโครงการของเธอว่า มีกลุ่มเป้าหมาย คือ "ครูภูมิปัญญา" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญในการทำอาหาร กลุ่มเด็กๆ ในพื้นที่ในโรงเรียน และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยปัจจุบันกลุ่มเด็กแทบไม่รู้จักอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงผักต่างๆ ในท้องถิ่น ส่วนครูภูมิปัญญาก็ไม่มีเรี่ยวแรงไปหาวัตถุดิบในป่า เธอจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ผลักดันเรื่องการอนุรักษ์แหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน ให้คนในชุมชนรู้ว่าบ้านเขาก็มีของดีจากป่าและให้หาของดีจากป่าเป็น รู้ว่าชนิดไหนนำมาประกอบอาหารได้และมีประโยชน์ทางโภชนาการ เมื่อทุกคนโดยเฉพาะเด็กๆ รู้จักและเห็นคุณค่าของอาหารเหล่านี้และช่วยกันอนุรักษ์ ก็จะมีอาหารตลอด ไม่ขาดแคลนวัตถุดิบชั้นยอด
"ต้องขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสหญิงได้กลับไปทำงานในชุมชน ขอบคุณที่เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และยังมีกระบวนการที่ทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองและเคารพตัวเองอีกด้วย" ต้นกล้าหญิงทิ้งท้าย
ด้านบุบผาทิพย์ แช่มนิล หญิงแกร่งผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา กล่าวเสริมในฐานะพี่เลี้ยงต้นกล้าชุมชนว่า "กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้นกล้าชุมชนในครั้งนี้ ดร.ศิริกุลสอนเรื่องแบรนด์ ทำให้เห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ โดยต้องตกตะกอนความคิด ว่ามันสะท้อนถึงอัตลักษณ์ชุมชน และเข้าถึงรากเหง้าของตนเองอย่างไร สินค้าของเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ส่วนการดูงานที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นสีและชุมชนบ้านน้ำราบ หัวใจของมันคือเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ให้ต้นกล้าได้กลับไปคิดและกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไปในอนาคต โดยมีพวกเราพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาที่ได้เป็นพี่เลี้ยงมา 3 ปี พี่รู้สึกเป็นพี่ครอบครัวต้นกล้าชุมชนอย่างแท้จริง ต้องขอขอบคุณความตั้งใจของมูลนิธิเอสซีจีที่ริเริ่มโครงการนี้ และอยากให้องค์กรอื่นๆ นำไปเป็นต้นแบบในการให้ความสำคัญในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ต่อไป"
มูลนิธิเอสซีจี "เชื่อมั่นในคุณค่าของคน" และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้าเหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนอื่นในชุมชน ได้ทำงานในบ้านเกิด เข้าถึงปัญหาและร่วมมือกับคนในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสืบสานศิลปวัฒนธรรรมให้คงอยู่ หวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโต หยั่งรากและตั้งมั่นในการรับใช้บ้านเกิดของตนเองต่อไป