กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) นำร่องคัด 30 ผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ จากทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพด้านระบบการผลิต พร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อรองรับการแข่งขันระดับสากล พร้อมมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้ประกอบการต้นแบบ ณ ศูนย์การแสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี
นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงในอนาคต ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น วิสาหกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถือเป็นกลไกหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว ทั้งการเพิ่มรายได้ของประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาทักษะของบุคลากร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง
และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนา ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ด้านทักษะการผลิต ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ OTOP ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากขาดความรู้ในการลดของเสียในกระบวนการผลิตและกระบวนการนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ใหม่ จึงได้จัดทำ "โครงการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560" ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการแข่งขันและเข้าถึงและได้ประโยชน์จากกลไกตลาดสีเขียวมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน
โครงการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดย กสอ. ได้ลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กับผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย คัดเลือกเหลือ 200 ราย และลงพื้นที่ดูกระบวนการผลิต พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้ง จนได้เป็นผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ 30 รายในวันนี้ โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ อาหาร, เครื่องดื่ม, ผ้าและเครื่องแต่งกาย, ของใช้ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก, สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP นั้นจะต้องผ่านเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5 ตัวชี้วัด คือ (1.) การดำเนินการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, (2.) การจัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อม, (3.) การนำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล, (4.) การติดตามประเมินผล และ (5.) การทบทวนและรักษาระบบ โดยผู้ประกอบการจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก กสอ. ดังนี้
- รางวัลผู้ประกอบการดีเด่นด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท จำนวน 5 รางวัล ดังนี้
• ประเภทอาหาร : วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินดินแดง จังหวัดชลบุรี
• ประเภทเครื่องดื่ม : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารและน้ำผลไม้ท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี
• ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย : กลุ่มผ้าบาติกตำบลวัดสุวรรณ จังหวัดชลบุรี
• ประเภทของใช้ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก : จักสานไม้ไผ่กลุ่มโรงเรียนวังหลังวิทยาคม จังหวัดสระแก้ว
• ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร : อนัญญามะพร้าว จังหวัดตราด
- รางวัลผู้ประกอบการดีมากด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ประเภทละ 2 รางวัล รวมจำนวน 10 รางวัล
- รางวัลผู้ประกอบการดีด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ประเภทละ 3 รางวัล รวมจำนวน 15 รางวัล
นอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 30 รายนี้ ยังมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ การฝึกอบรม สัมมนา การให้คำปรึกษา แนะนำเชิงลึก และยังได้สิทธิพิเศษในการออกบูธ แสดงสินค้าร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ยังจะเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ซึ่งมีมากกว่า 40,000 รายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็ง และยังต้องสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณภาพในภูมิภาคต่างๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นแนวนโยบายมุ่งเน้นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรร และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกอุตสาหกรรมจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล โดยปรับตัวเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" (Green Industry) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) สอดคล้องกับการลงทุนในปัจจุบัน คือต้องเป็น "การลงทุนสีเขียว" (Green Investment) นายเพทาย กล่าวในที่สุด