กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่54.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่49.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.87เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลงเล็กน้อย 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
·Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 15 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น อยู่ที่ 749 แท่น ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ในรอบ 5 สัปดาห์
·บริษัทน้ำมันแหล่งชาติลิเบีย (National Oil Corp.: NOC) แถลงแหล่ง Sharara (ปริมาณการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ยังผลิตน้ำมันดิบในระดับต่ำ ที่ 180,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะประสบปัญหาด้านความปลอดภัย
·รายงานฉบับเดือน ก.ย. 60 ของ International Energy Agency (IEA) ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เห็นได้จากปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ OECD ณ สิ้นเดือน ก.ค. 60 ลดลงมากระทั่งเหนือค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีย้อนหลังเพียง 35 ล้านบาร์เรล
·15 ก.ย. 60 โรงกลั่นน้ำมัน Port Arthur (กำลังการกลั่น 603,000 บาร์เรลต่อวัน) ในรัฐ Texas ของบริษัท Motiva กลับมาเดินเครื่องได้ที่ระดับ 302,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากปิดเพราะพายุ Harvey ตั้งแต่ 30 ส.ค. 60 ทั้งนี้หน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit: CDU) อีก 2 หน่วยยังหยุดดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ จึงจะกลับมาดำเนินการเต็มกำลัง
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
·กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 180,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
·Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 468.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการกลั่นทั่วประเทศลดลง จากสัปดาห์ก่อน 2.0% มาอยู่ที่ 77.7% ต่ำสุดในรอบเกือบทศวรรษจากผลกระทบของพายุ Harvey
·รายงานฉบับเดือน ก.ย. 60 ของ EIA คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 590,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 560,000 บาร์เรลต่อวัน
·Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5,435 สัญญา มาอยู่ที่ 180,985 สัญญา
·กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (Department of Energy) ขายน้ำมันดิบปริมาณ 14 ล้านบาร์เรล จากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves: SPR) ให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ 6 บริษัท ได้แก่ BP, ExxonMobil, Phillips 66, Shell, Valero, และ Macquarie
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาขึ้น หลังจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการ ประกอบกับสถาบันวิเคราะห์พลังงานชั้นนำของโลกทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ IEA, EIA และ OPEC ต่างคาดการณ์ไปในทางทิศทางสอดคล้องกันว่าอุปสงค์น้ำมันโลก ทั้งในปีนี้และปีหน้า มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 หยุดแนวโน้มรายเดือนที่ปรับเพิ่มติดต่อกัน 14 เดือน ให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 19-20 ก.ย. 60 และการประชุม OPEC (JMMC) ในวันที่ 22 ก.ย. 60 และจับตาความตึงเครียดทางการเมืองโลก ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นาง Nikki Haley แถลงว่าสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ นาย Cui Tiankaiเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติ วาทะคุกคามเกาหลีเหนือ โดยเห็นว่าสหรัฐฯ ควรใช้แนวทางการเจรจาต่อรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากนานาชาติ อย่างแท้จริง ทั้งนี้จีนเป็นพันธมิตรและคู่ค้าหลักของเกาหลีเหนือ และร่วมต่อสู้ด้วยกัน ในช่วงสงครามเกาหลี พ.ศ. 2493-2496 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.0-57.5เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 48.5–52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52.0–55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังโรงกลั่นน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการ อีกทั้ง วาณิชยธนกิจ Goldman Sachs คาดว่าเฮอริเคน Irma ที่พัดเข้ารัฐ Florida ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ คิดเป็นปริมาณ 250,000 บาร์เรลต่อวัน (การประเมินดังกล่าวได้คิดรวมกับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่) ประกอบกับรัฐบาลจีนเผยแผนใช้ Ethanol ผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10% หรือที่เรียกว่า E10 ทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563 จากเดิมที่ไม่มีแผนบังคับใช้ /เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะและเพิ่มความต้องการใช้ข้าวโพดสำหรับอุตสาหกรรม อีกทั้งคณะรัฐมนตรีของจีนอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (จีนยังไม่กำหนดช่วงเวลาในการประกาศใช้แผน) ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษประกาศยกเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในปี พ.ศ. 2583 อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ อาทิบริษัท ExxonMobil และ Motiva Enterprises เป็นต้น ต่างนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ลดลงช่วงโรงกลั่นลดอัตราการกลั่น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีข้อตกลงกับบริษัทท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป Colonial ว่าต้องส่งน้ำมันต่อเนื่อง และสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในเดือน ส.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 6.4% มาอยู่ที่ 3.82 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซีย ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ200,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 19-21 ก.ย. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 218.3 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Citi คาดการณ์ลดลงที่ 6.2 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ย. 60 ลดลดจากสัปดาห์ก่อนหน้า 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.28 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-72.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง Reuters รายงานว่าโรงกลั่นน้ำมันในไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. 60 ขณะที่บริษัท GS Caltex ของเกาหลีใต้ ประกาศยังไม่สามารถระบุเวลาเริ่มดำเนินการหน่วย Vacuum Residue Hydrocracker (VRHCR – ขนาด 60,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยปิโตรเคมี ที่โรงกลั่น Yeosu (กำลังการกลั่น 790,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังเกิดเหตุไฟไหม้เดือนก่อนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดีเซลของเกาหลีใต้ และมีแรงซื้อจากบังคลาเทศและฟิลิปปินส์ ประกอบกับ Platts รายงานว่ายุโรปมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดีเซลจากเอเชียเพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 144.6 ล้านบาร์เรล และ IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.76 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม BMI Research รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นจีน เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ 77.4% เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาส 2 ที่อัตราการกลั่นอยู่ที่ 74.5% สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.2 – 69.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล