กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--บลจ.วรรณ
บลจ.วรรณ สบจังหวะ trading หุ้นช่วงขาขึ้น ปิดกองทุนทริกเกอร์สำเร็จ one-spot5/4 เข้าเงื่อนไขปิดกองทุน 5% หลังหุ้นไทยกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยการเมืองคลี่คลายและ flow หนุน ชี้ระยะสั้นดัชนีฯ อาจมีการปรับฐานแนะเป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุน มองกรอบสัปดาห์นี้ผันผวนในกรอบ 1,640-1,670 จุด
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด(บลจ.วรรณ) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยหลังจากมีความคลี่คลายจากปัจจัยทางการเมือง ส่งผลให้ช่วงเดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น และอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 7.62% เอื้อต่อการบริหารพอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิด วรรณ สปอท 5/4 ฟันด์ (ONE-SPOT5/4) เข้าเงื่อนไขการเลิกกองทุน คือ มูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.53 บาท และ มูลค่าหน่วยลงทุนที่จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ 10.50 บาท โดยสับเปลี่ยนอัตโนมัติไปยังกองทุน 1AM-DAILY โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถทำรายการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจากกองทุนเปิดวรรณเดลี่ได้ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ เริ่มกลับมามีปัจจัยสนับสนุน จากกระแสเงินทุนจาก นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยนับตัวแต่ต้นเดือน ก.ย. ตลาดหุ้นไทยมีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังตลาดหุ้นไทย Laggard ตลาดหุ้นอื่น และยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
"อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนมากขึ้นโดยมองกรอบ 1,640-1,670 จุด โดยมองว่าหุ้นไทยเริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจากนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่มีการขายทำกำไรออกจากตลาดหุ้นอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อยู่ที่ประมาณ 617.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 704.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 521.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ"นายพจน์ กล่าว
นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมองว่ายังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น และจากการที่ตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา อาจทำให้ตลาดมีโอกาสปรับฐาน อย่างไรก็ดี หากดัชนีฯ ปรับตัวลงในระดับต่ำกว่า 1,600 จุดถือเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 -20 ก.ย. นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.00% -1.25% และเริ่มแผนการลดขนาดงบดุลลง สอดคล้องกับ Fed Funds Futures ที่ให้น้ำหนักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงดังกล่าวที่ 50% (จากเดิม 38.9%) หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น พร้อมติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 -21 ก.ย. ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินไปจากเดิมหรือไม่