กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จับมือสำนักงานอัยการฯ ลงนามความร่วมมือขจัดความรุนแรงผู้หญิงและเด็ก ดึงคณาจารย์ นักศึกษา เข้าเป็นเครือข่ายป้องกันการเกิดความรุนแรงในครอบครัว
อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการร่วมขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสงขลา กับมรภ.สงขลา ตำรวจภูธรภาค 9 ที่ทำการปกครองจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิแพธทูเฮสท์ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ในการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายสหวิชาชีพ เพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้การทำงานเกิดความต่อเนื่อง มีการบูรณาการที่ชัดเจน เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันอาชญากรรมและคุ้มครองสวัสดิภาพต่อผู้หญิงเด็ก และบุคคลในครอบครัว ตลอดจนช่วยให้กลุ่มบุคคลข้างต้นได้รับความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
อาจารย์จิรภา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้น มรภ.สงขลา มีบทบาทหลักในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการอัยการประสานสหวิชาชีพและชุมชนร่วมขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งสร้างเครือข่ายในมหาวิทยาลัยให้คณาจารย์ นักศึกษา ร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงภายในครอบครัวของตนเองและผู้อื่น ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่พบเห็น ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการยุติความรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสงขลา จึงจัดให้มีการเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ณ ถนนคนเดิน เทศบาลเมืองเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งกองพัฒนานักศึกษาได้จัดนักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เข้าร่วมเดินรณรงค์ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับที่มาในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากปัจจุบันองค์การสหประชาชาติกำหนดยุทธศาสตร์ต้นแบบฉบับปรับปรุงและมาตรการเชิงปฏิบัติ ในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้มีการขับเคลื่อนมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและเด็ก รวมถึงบุคคลในครอบครัว ตามกฎหมายและยุทธศาสตร์ต้นแบบของสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก มีพนักงานอัยการเป็นแกนหลักในการบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามสหวิชาชีพ ผู้นำชุมชนและเครือข่ายที่ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิคนกลุ่มดังกล่าว โดยสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำโครงการอัยการประสานสหวิชาชีพและชุมชนร่วมขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการบูรณาการร่วมกันเป็นองค์ความรู้ พัฒนาระบบประสานงานและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการประสานความร่วมมือกับกลุ่มสหวิชาชีพในการขอคำปรึกษาเมื่อมีกรณีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถให้ความช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำเป็นไปในทางที่ถูกต้อง