กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--มทร.ธัญบุรี
"พุทธศิลป์ในภาคใต้เป็นงานที่มีคุณค่า โดดเด่น ไม่เหมือนชาติใดในโลก เป็นแหล่งสืบทอดวิทยาการด้านศิลปะ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่แสดงถึงสังคม วิธีคิด และภูมิปัญญาของช่างโบราณ" นี่คือเสียงแห่งความภาคภูมิใจของ รศ.ดร.สมพร ธุรี อาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ลงพื้นที่กว่า 7 จังหวัด รวม 18 วัดทั่วภาคใต้ เพื่อศึกษา วิเคราะห์เรื่องราวของงานพุทธศิลป์
"คำว่าพุทธศิลป์ คืองานศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุทิศ สนองตอบ และรับใช้พระพุทธศาสนาโดยตรง เป็นศิลปะชั้นสูง อันก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพื่อการสืบทอดพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป และพุทธศิลป์ในภาคใต้จากการลงพื้นทั้งหมด แบ่งได้ 3 ประเภท คือ งานจิตรกรรมไทย-ศิลปะเกี่ยวกับการเขียนภาพจิตกรรมทางพุทธศาสนาตามผนังอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญหรือตามถ้ำ งานสถาปัตยกรรมไทย-ศิลปะที่เกี่ยวกับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมชั้นยอดของไทย เช่น อุโบสถ วิหาร พระสถูปเจดีย์ และงานประติมากรรมไทย ที่เป็นศิลปะการปั้น แกะสลัก เช่น เทวรูป พระพุทธรูป" รศ.ดร.สมพร อธิบาย
โดยพุทธศิลป์ภาคใต้ในเขตพื้นที่ฝั่งทิศตะวันออกทะเลอ่าวไทยนั้นเป็นพื้นที่ได้รับอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้เกิดการซึมซับเอาคตินิยมแบบต่าง ๆ มาผสมผสานในงานพุทธศิลป์ แต่ชาวภาคใต้ไทยพุทธยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและมีศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาทางพุทธศาสนา ดังปรากฏงานพุทธศิลป์อยู่ที่วัด ที่มีรูปแบบช่างหลวงภาคกลางเป็นหลักในการแสดงออก ผสมผสานความหลากหลายทางความคิด สังคม ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม เรื่องราวทั้งหมดดังกล่าวในพุทธศิลป์ภาคใต้ จึงเป็นภาพสะท้อนทั้งแนวคิดและรสนิยมในรูปแบบที่หลากหลายของศิลปวัฒนธรรมจีน ตะวันตก มลายู อิสลาม อินเดีย ชวา ลังกาวงศ์และประเภทอื่น ๆ
ถ้าจะขยายความให้กระจ่างขึ้น รศ.ดร.สมพร อธิบายว่า ถึงแม้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างผลงานพุทธศิลป์ แต่ก็ยอมรับอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมของคติความเชื่อรูปแบบของต่างชาติและท้องถิ่น จึงปรากฏเป็นภาพของความหลากหลาย การอยู่ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม ความกลมกลืน ความสามัคคี ความเป็นเอกภาพ ถือเป็นรากเหง้าของสังคมชาวภาคใต้ ที่ปรากฏและสะท้อนออกมาให้เห็นจากผลงานพุทธศิลป์ "ซึ่งนับวันจะชำรุดไปตามเวลา ถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนาให้ถูกต้อง ผลงานทั้งหมดก็คงจะสูญหาย เหลือแค่เรื่องเล่าขานหรือเพียงแค่ตำนาน และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ งานจิตรกรรมและประติมากรรมมีการบูรณะอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้สูญเสียคุณค่าความงามและอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้"
ดังเช่นผลงาน การดัดแปลงรูปแบบเจดีย์จุฬามณีของศาสนาพุทธผสมผสานกับมัสยิดของศาสนาอิสลามเกิดความเป็นเอกภาพของรูปแบบการจัดองค์ประกอบศิลป์ของรูปทรง และเทคนิคเชิงช่าง อันแสดงถึงสมาธิความสมดุล และการพึ่งพาอาศัย การอยู่ร่วมกันของคนในภาคใต้ ดังปรากฏจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดโคกเคียน จ.ปัตตานี
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส ที่แสดงการนับถือตามวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเชื่อคติพราหมณ์ด้วยภาพการหามโลงศพ ซึ่งมีลักษณะเป็นพุ่มยอดพนมเตี้ย สัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จ.สงขลา ที่แสดงเรื่องราวที่มีความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต ซึ่งปรากฏภาพสิ่งก่อสร้าง หอนาฬิกา ซุ้มประตู ภาพเรือขนส่งสินค้าชาวตะวันตกอยู่ในเนื้อหาหลักของภาพพุทธประวัติและทศชาดก
เทคนิคเชิงช่างการสลักหินแกรนิตเป็นเจดีย์หรือถะของศิลปะจีน โดยสั่งทำจากเมืองจีนแยกส่วน แล้วมาประกอบในไทย รูปทรง 6 เหลี่ยม 7 ชั้น สร้างในสมัยเจ้าพระยาสงขลา ซึ่งผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 2 เป็นผู้สร้าง (มีจารึกว่าสร้างสมัยรัชกาลที่1) เห็นได้จาก วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จ.สงขลา
ในความหลากหลายนี้ จึงเกิดเป็นหนังสือ พุทธศิลป์ในภาคใต้ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งศาสตราจารย์สุชาติ เถาทอง ได้ให้คำนิยมไว้อย่างน่าสนใจว่า "จุดเด่นของหนังสือช่วยให้เห็นพลังการผสมผสานในพุทธศิลป์ของภาคใต้ ที่มีชีวิต มีความเติบโต พร้อมกับการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีรากเหง้าของอัตลักษณ์ทางศิลปะอย่างแท้จริง"
รศ.ดร.สมพร สรุปให้ฟังว่า ความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในภาคใต้นั้น ช่างในอดีตได้สร้างความเป็นเอกภาพด้วยการให้มีศูนย์รวมทางความเชื่อทางศาสนา และให้ความสำคัญเท่าเทียมกันโดยมีศาสนาพุทธเป็นหลักแกนกลางในการแสดงออกของผลงานพุทธศิลป์ ด้วยการสร้างสรรค์การจัดองค์ประกอบของรูปภาพและเนื้อหาที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกัน และสอดแทรกเรื่องราวปริศนาธรรมอันจะเป็นหลักคิดเตือนใจให้เห็นว่า "แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็อยู่ร่วมกัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้บนพื้นแผ่นดินไทย" และอยากเชิญชวนให้มาศึกษาและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของภาคใต้ มาสัมผัสการแสดงออกคุณค่าความงาม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ชวนให้ตีความหมายนับเป็นเสน่ห์ความงามอันมีคุณค่าและน่าสืบทอดต่อไป...