กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
วันนี้ (19 กันยายน 2560) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การเกษตรแบบแม่นยำสูง และทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ไทยแลนด์ 4.0" ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล ชูเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ นักวิชาการ และผู้ประกอบการไทยด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กว่า 100 คน ในการนำองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบแม่นยำสูง ไปต่อยอดพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานให้เกิดเป็นรูปธรรม เพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมฯ ว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจการเกษตรแบบแม่นยำสูง ได้ทราบถึงสถานภาพและวิธีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ ทิศทางในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรแบบแม่นยำสูงที่เหมาะกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน กอปรกับการที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อการผลิตสินค้า พัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด ผ่านการวิจัยและพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของประเทศให้เจริญรุดหน้ายิ่งๆขึ้นไป
"...การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นวิธีการที่สำคัญในการได้มาซึ่งเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ที่มุ่งเน้นการเกษตรแบบแม่นยำสูง เพื่อรองรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล อันจะเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้ระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูงนั้น ยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาใช้เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร ลดความยากลำบากในการทำการเกษตร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำสูงอีกทางหนึ่งด้วย..." ดร.อาภารัตน์ฯ กล่าว
รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้การเกษตรแบบแม่นยำสูงนั้น จะช่วยในเรื่องการประหยัดต้นทุน ผลิตได้ทันเวลา และได้สินค้าที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีผลกำไรมากยิ่งขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้จะเป็นรากฐานความรู้และการพัฒนา เพื่อปรับปรุงและต่อยอดเทคโนโลยีด้านนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ
อนึ่ง การเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture : PA) เป็นการเกษตรที่ใช้การบริหารจัดการดูแลรักษาแปลงผลิตผลทางการเกษตร ที่ใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและเวลา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการแปลงเกษตรโดยอาศัยการสังเกต การวัดและการตอบสนองต่อความแปรปรวนภายในและระหว่างแปลงเกษตร มีประโยชน์ในการสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต นอกจากนั้นยังสามารถสร้างประโยชน์แก่สภาพการทำงานและสังคม ตัวอย่างเช่น ระบบการบังคับพวงมาลัยรถแทรกเตอร์อัตโนมัติ สามารถลดความเหนื่อยล้าของแรงงาน หรือระบบเทคโนโลยีจัดการวัวนมเชิงปัจเจกแบบอัตโนมัติ สามารถลดความต้องการแรงงานที่เดิมจำเป็นต้องรีดนมวันละสองครั้ง ทั้งยังสามารถเพิ่มสวัสดิการสัตว์ได้อีกด้วย เป็นต้น