ตัวแทนเยาวชนขอให้ผู้ว่าฯกทม. ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดและส่งเสริมสวัสดิการเยาวชน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 4, 2000 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กทม.
ที่เขตดุสิต ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เสียงสะท้อนจากเยาวชนถึงผู้ว่าฯกทม.” อันเป็นกิจกรรมรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งกำหนดจัดหมุนเวียนไปตามกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่ม รวม 6 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน สตรี นักธุรกิจ และส่วนราชการได้มาอภิปรายเสวนาเกี่ยวกับลักษณะของผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการว่าเป็นอย่างไร และปัญหาอะไรที่ต้องการให้ผู้ว่าฯกทม. เข้ามาแก้ไข ซึ่งกิจกรรม “เสียงสะท้อนจากเยาวชนถึงผู้ว่าฯกทม.” ครั้งนี้ เป็นการเสวนารับฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชน ในพื้นที่กลุ่มเขตรัตนโกสินทร์ ซึ่งประกอบด้วย เขตบางซื่อ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน พระนคร บางรัก ป้อมปราบฯ และสัมพันธวงศ์
สำหรับเยาวชนที่เป็นตัวแทนขึ้นเสวนาบนเวทีมีจำนวน 7 คน ได้แก่ ด.ญ.ดวงหทัย ศรีสาคร อายุ 11 ปี จากโรงเรียนช่างอากาศอำรุง นายฐาปกรณ์ ชินะวาสี อายุ 17 ปี จากโรงเรียนราชวินิตมัธยม น.ส.ศิริพร สุพิทยากุล อายุ 20 ปี จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพณิชยการพระนคร นายจิรธิติ นภีตะภัฏ อายุ 16 ปี จากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย นายอรรณพ สุรัตนโสภณ อายุ 17 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ด.ญ.กชกานต์ ภูมิพินิจ อายุ 13 ปี จากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย และ ด.ญ.ทิชาภรณ์ มุ่งรักษ์ชน อายุ 12 ปี จากโรงเรียนโยธินบูรณะ เนื้อหาโดยสรุปจากการเสวนามีดังนี้ เยาวชนเห็นว่าปัญหาครอบครัวแตกแยกทำให้เยาวชนต้องหันไปพึ่งยาเสพติด อีกทั้งยังมีเยาวชนบางกลุ่มที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ค้ายาเสพติด ส่งผลให้ปัญหายาเสพติดยิ่งแพร่ระบาดออกไปทั้งในชุมชนและโรงเรียน ดังนั้นผู้ว่าฯกทม.ในอนาคตจึงควรส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งโดยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงดูบุตรแก่ครอบครัวและผู้ปกครอง รวมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนเล่นกีฬาโดยการจัดให้มีลานกีฬา สนามเด็กเล่นเพิ่มมากขึ้นตามชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และควรจัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และห่างไกลจากยาเสพติด
ตัวแทนเยาวชนยังให้ข้อเสนอแนะอีกว่า นอกจากนี้กรุงเทพมหานครควรให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิการเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กที่ด้อยโอกาส เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กยากจนในชุมชนแออัด ด้วยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน หนังสือ เครื่องแต่งกาย เพื่อให้เยาวชนทุกคนมีการศึกษาที่ดี และเป็นอนาคตที่มีคุณภาพของชาติต่อไป สำหรับสวัสดิการด้านอื่น ๆ นั้น ควรปรับปรุงรถประจำทางให้มีความปลอดภัย ตลอดจนบริหารให้จำนวนรถประจำทางในแต่ละเส้นทางสมดุลย์กับจำนวนผู้สัญจรในเส้นทางนั้น และควรแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากการจราจร และปัญหาขยะ เพื่อให้เยาวชนได้อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี รวมทั้งตัวแทนเยาวชนยังขอให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ อาทิ การจัดค่ายเยาวชนหรือกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ตลอดจนได้มีโอกาสศึกษาดูงานโครงการต่าง ๆ ของกทม. เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือโครงการแยกขยะ เป็นต้น
อนึ่ง ข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากกิจกรรม “เสียงสะท้อนจากเยาวชนถึงผู้ว่าฯกทม.” นี้ จะมีการรวบรวมและนำเสนอให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอนาคตได้พิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ