กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รุกเดินหน้าตรวจสอบยกระดับโรงงานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย กากอุตสาหกรรม และเพิ่มศักยภาพในโรงงาน ตามนโยบายหามาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โดยจัดตั้งทีมตรวจสอบเฉพาะกิจ จำนวน 5 ชุด แบ่งเป็น ชุดที่ 1 – 3 ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของกลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก นำร่องตรวจโรงงาน 23 แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด โดยมีการตรวจสอบในหลายด้าน อาทิ ตรวจห้องหม้อน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ตรวจระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่อาจจะเสี่ยงคนงานตกบ่อ เป็นต้น และทีมชุดที่ 4 – 5 กรมโรงงานฯ ดำเนินการตรวจสอบเองโดยนำร่องตรวจสอบโรงงานรับบำบัด/กำจัดกากของเสีย จำนวน 20 แห่ง โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2560
ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่มีคนตกบ่อพักน้ำเสียในพื้นที่อับอากาศของโรงงานประกอบกิจการฆ่าและชำแหละสัตว์ปีกแห่งหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เนื่องจากสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยของโรงงาน กรมโรงงานฯ จึงมีมาตรการยกระดับด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยจะมุ่งเน้นตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ได้แก่ พื้นที่อับอากาศ การเกิดเพลิงไหม้ การจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น กรมโรงงานฯ จึงได้จัดตั้งทีมชุดปฏิบัติการตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมเฉพาะกิจจำนวน 5 ชุด เพื่อตรวจสอบกำกับดูแลให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และกากอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด
โดยแบ่งเป็นชุดที่ 1 – 3 ตรวจโรงงานฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก ร่วมกับหน่วยตรวจเฉพาะกิจจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ในการตรวจสอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งจะนำร่องปฏิบัติการตรวจโรงงานฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก จำนวน 23 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 132 แห่งทั่วประเทศ โดยคัดเลือกโรงงานที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันคิดเป็นร้อยละ 60 - 70 ของกำลังการผลิตโรงงานฆ่าและชำแหละสัตว์ปีกทั้งประเทศ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ซึ่งได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง สมุทรปราการ จำนวน 2 แห่ง สระบุรี จำนวน 4 แห่ง ลพบุรี จำนวน 2 แห่ง ฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง ราชบุรี จำนวน 1 แห่ง นครปฐม จำนวน 3 แห่ง นครนายก จำนวน 1 แห่ง ชลบุรี จำนวน 4 แห่ง ปทุมธานี จำนวน 2 แห่ง และสมุทรสาคร จำนวน 1 แห่ง
และชุดที่ 4 – 5 นำร่องตรวจสอบโรงงานรับบำบัด/กำจัดกากของเสีย จำนวน 20 โรงงาน ซึ่งกรมโรงงานฯ ดำเนินการตรวจสอบเอง โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงงานผู้รับดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ประเภทสารละลายกรด ด่าง เคมีภัณฑ์ น้ำหล่อเย็น และกลุ่มโรงงานผู้รับดำเนินการประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมใช้แล้วจากแหล่งกำเนิดที่ไม่ใช่โรงงาน เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังลักลอบการทิ้งกากอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย
ทั้งนี้ การตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงงาน มีการตรวจสอบในหลายด้าน อาทิ ตรวจห้องหม้อน้ำที่อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ตรวจระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่อาจจะเสี่ยงคนงานตกบ่อ พร้อมให้คำแนะนำในเชิงมาตรการป้องกันเพื่อเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยให้มีมาตรฐานเกินกว่ากฎหมายกำหนด ยังมีการให้คำแนะนำในโครงการส่งเสริมยกระดับโรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตแก่ผู้ประกอบการ อาทิ เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 1 - 5 หรือเชิญชวนเข้าร่วมโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงงานผู้รับกำจัดกากอุตสาหกรรมเข้าถึงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เพื่อยกระดับกิจการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ Industry Transformation เป็นต้น ทั้งนี้ การตรวจสอบโรงงานดังกล่าวเป็นการหามาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา โดยตรวจสอบโรงงานไปแล้ว 13 โรงงาน และกำหนดตรวจสอบเสร็จภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 หลังจากนั้นกรมโรงงานฯ จะมีการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนต่อไป ร้อยเอกธเนศ กล่าว
ด้าน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดของกสร. ประกอบด้วยหน่วยตรวจเฉพาะกิจจากกองความปลอดภัยแรงงาน ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1,2,7,10 และ10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม นครนายก ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และ 2 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 และ10 ร่วมดำเนินการตรวจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กับชุดปฏิบัติการฯ ของกรมโรงงานฯ โดยมีแนวทางการตรวจฯ คือ จะประสานแผนการตรวจร่วมกันเพื่อเข้าตรวจพร้อมกัน ซึ่งการลงพื้นที่เข้าตรวจโรงงาน จะมุ่งเน้นในพื้นที่ที่เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่อาจเกิดอันตรายจากที่อับอากาศ หากพบว่าไม่ปลอดภัยจะมีการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงหรือพิจารณาออกคำสั่งให้ปรับปรุงตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานผลิตเนื้อไก่สดและปรุงสุกของบริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมี ร้อยเอกธเนศ จันทกลิ่น รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานในการตรวจสอบโรงงาน สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4124 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรือที่กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โทร. 0 2448 9128-39 www.oshthai.org