กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--พีอาร์ดีดี
รายงาน Voice of Asia ล่าสุดของดีลอยท์ยืนยันชัดเจนว่าโครงสร้างประชากรซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ กำลังจะทำให้ดุลอำนาจของเอเชียเปลี่ยนไป
· ในปี 2585 ประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี จะอยู่ในเอเชียมากกว่าประชากรของประเทศสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน
· อินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายต่อไป เพราะในช่วงปีสิบปีจากนี้ไป แรงงานกว่าครึ่งหนึ่งของทวีปเอเชียจะมาจากอินเดีย
· โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จะทำให้มีเกิดโอกาสธุรกิจใหม่มารองรับการขยายตัวของประชากรกลุ่มนี้ เน้นเมกาเทรนด์ เช่น อายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น
· ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแลประชากรสูงวัยเหล่านี้ด้วย
ดีลอยท์เปิดเผยรายงาน ล่าสุด Voice of Asia series. ซึ่งจัดทำมาต่อเนื่อง เป็นปีที่สาม ระบุเอเชียมีประชากรอายุเกิน 65 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและมีการขยายตัวสูงสุดในโลก จาก 365 ล้านคนในปี 2560 เป็น 520 ล้านคนในปี 2570 ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2585 ในเอเชียจะมีประชากรอายุเกิน 65 ปีมากกว่าจำนวนในประชากรของยุโรปกับอเมริกาเหนือรวมกัน นั่นหมายความว่าในเอเชียจะมีประเทศที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นและส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ๆเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรสูงวัยมากขึ้นด้วย
"ประชากรสูงวัยจะกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบางประเทศ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับประเทศเหล่านั้น ผลการวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า จะมีอุตสาหกรรมบางอย่างได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของกลุ่มประชากรสูงวัยเหล่านี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในเอเชีย" คริส ริชาร์ดสัน นักเศรษฐศาสตร์ของดีลอยท์ออสเตรเลีย กล่าว
โครงสร้างทางประชากรใหม่ – ความท้าทายใหญ่ของไทย
สำหรับโครงสร้างประชากรของประเทศไทย กำลังเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ กล่าวคือ อัตราการเติบโตของประชากรของไทยลดลง ขณะที่ประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญคือ อัตราการเกิดที่ต่ำมาก คือต่ำกว่าอัตราการเกิดทดแทนที่ 2.1 คน ต่อเนื่องมาถึงสองทศวรรษแล้ว ประเทศไทยเคยมีอัตราการเกิดสูงสุดเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ ถึงขั้นอัตราเกิดเหลือเพียง 1 ใน 3 ผลสะท้อนออกมาในปัจจุบันคือ คนไทย 1 ใน 10 คน อายุ เกิน 65 ปี และคาดว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโอกาสทางธุรกิจ วงการธุรกิจต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนเพื่อค้นหาโอกาสดีทางๆธุรกิจต่อไป ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อภาคเอกชน สำหรับภาครัฐเอง รัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแลบริหารจัดการเช่นกัน
"ทั่วโลกมองว่าเรามีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตต่อไปสูงมาก และก็เป็นอะไรที่เรามองว่าเราไปถึงได้ แต่ศักยภาพคงจะเกิดขึ้นยากหากเราไม่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมาผลักดันให้เป็นความจริง ดังนั้นเราต้องกระตุ้นให้มีอัตราการเกิดที่สูงขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานปัจจุบันที่กำลังจะกลายเป็นประชากรสูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้" นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว
อินเดีย – มหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่
หลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะเป็นยุคของญี่ปุ่น ตามมาด้วยจีน แต่จากนี้ไปวงการธุรกิจของโลกจะต้องหลีกทางให้อินเดีย ซึ่งเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่สามของเอเชียก็ว่าได้ เพราะอินเดียมีความได้เปรียบเทียบทางด้านโครงสร้างประชากรเหนือประเทศอื่นๆ กล่าวคือ ขณะนี้อินเดียมีประชากรวัยแรงงาน 885 ล้านคน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 1,080 ล้านคน ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า และจะมีจำนวนสูงกว่าพันล้านคนและต่อเนื่องยาวนานไปอีกกว่าครึ่งศตวรรษ
อานิส จักรวาร์ที นักเศรษฐศาสตร์ของดีลอยท์อินเดีย อธิบายว่า "วัยแรงงานของเอเชียในทศวรรษหน้านี้ กว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากอินเดีย แต่ประเด็นไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวนประชากรเท่านั้น แต่แรงงานเหล่านี้จะเป็นแรงงานผ่านการศึกษาอบรมมาดีกว่าแรงงานอินเดียในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานผู้หญิง จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ แรงงานจากอินเดีย จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นพร้อมกับความตั้งใจที่จะทำงานนานขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดว่าอินเดียมีโอกาสงดงามรออยู่"
นอกจากอนาคตอันสดใสของอินเดียจะยาวนานไปอีกหลายทศวรรษและเป็นผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับโลกแล้ว อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็มีประชากรวัยแรงงานหนุ่มสาวเช่นกัน นั่นก็หมายถึงว่าโอกาสของสองประเทศนี้ก็มีความสดใสไม่แพ้กัน
โอกาสใหม่ๆที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัย
โครงสร้างสังคมสูงวัยมีปัจจัยเร่งสามด้านที่กระตุ้นให้เกิดโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจในเอเชีย ได้แก่
ประชากรสูงวัยในเอเชียขยายตัวเร็วมาก ภายในกลางศตวรรษนี้ จำนวนประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ในเอเชียจะพุ่งสูงเกินหนึ่งพันล้านคน ผลที่ตามมาคือเงินที่ต้องใช้ดูแลคนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเร็วยิ่งกว่าการโตของประชากรสูงวัยของเอเชียเสียอีก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เทคโนโลยีใหม่ๆกับการบริหารจัดการอาการป่วยเรื้อรัง เหล่านี้จะส่งให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นกว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ และ ท้ายที่สุด โอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชนก็ยังสามารถเจริญเติบโตได้อยู่ เพราะงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ผู้จ่ายภาษีต้องแบกรับนั้นก็จะลดลงไปด้วยในอนาคตไม่กี่ทศวรรษจากนี้ไป
"ประชากรสูงวัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การวินิจฉัยโรค ยาและเครื่องมือต่างๆ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชาการที่เปลี่ยนไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแรงกดดันให้ปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของคนไข้" ดร. ลก ไว ชง ลีดเดอร์ ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ ของดีลอยท์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
"ถึงแม้การเพิ่มขึ้นของประชาการสูงวัยจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาตอบโจทย์ด้านเฮลธ์แคร์ ระบบสุขภาพในภูมิภาคของเราควรต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการดูแลสุขภาพไปสู่ระดับสูง สมราคากับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่แพงมากขึ้นทุกวัน" ดร. ลกกล่าว
ทสึโยชิ โอยามา นักเศรษฐศาสตร์ ของดีลอยท์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ความต้องการของกลุ่มประชากรสูงวัยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลเท่านั้น
"ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าในญี่ปุ่น กลุ่มประชากรสูงวัยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจหลายอย่างนอกจากเรื่องการรักษาพยาบาล การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัยในญี่ปุ่นทำให้ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจที่จะมาตอบสนองเปลี่ยนไป ผู้สูงวัยในญี่ปุ่นยังต้องการ สินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับคนสูงวัย บ้านหรือที่อยู่อาศัยที่ออกแบบให้เหมาะสำหรับผู้อยู่อาศัยสูงอายุ ตลอดจนสวัสดิการทางสังคมและการบริหารด้านการเงินและระบบประกันภัยและประกันชีวิตด้วย"
ประเทศต่างๆจะลดผลกระทบของสังคมสูงวัยได้อย่างไร
สังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องใหม่ ญี่ปุ่นเคยเผชิญกับความท้าทายเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน คำทำนายที่ว่าอินเดียจะเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่นั้น ก็ไม่ได้มีอะไรยืนยันหรือรับรองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้ามศักยภาพที่มีอยู่ต้องมีโครงการหรือมาตรการอื่นๆมาสนับสนุนด้วย จึงจะบรรลุความสำเร็จได้ หาไม่แล้ว การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรจะส่งให้เกิดการว่างงาน จนนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมหรือการเมืองในที่สุด
มาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเอเชียในอนาคต
· ยืดอายุเกษียณออกไป – ทุกวันนี้งานที่ต้องอาศัยแรงงานหนักๆมีจำนวนน้อยลง แต่อายุขัยเฉลี่ยคนเรากลับยืนยาวขึ้น มีผลต่ออายุการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ปัจจุบันค่าตอบแทนที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนต้องการทำงานนานขึ้น ดังนั้น การยืดอายุเกษียณออกไปน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับสังคมสูงอายุก็ได้ โดยเฉพาะในฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีและจีน ที่กำลังจะเจอกับผลกระทบที่เกิดจากสังคมสูงอายุ
· ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น – เอเชียมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย และช่องว่างนี้กว้างมาก ถ้ามีผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาสืบเนื่องจากสังคมสูงอายุได้
· เปิดรับแรงงานอพยพ – ปี 2560 แรงงานอพยพ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย แต่รายได้ของแรงงานเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นประเทศที่ประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ควรต้องเปิดประตูรับแรงงานอพยพจากชาติอื่น เพราะการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ จะช่วยให้สามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อไป ประเด็นที่สำคัญคือ นโยบายรัฐ และราคาอสังหาริมทรัพย์ จะเอื้อให้กับการเปิดรับผู้อพยพเข้ามาในจุดที่พอดีหรือเหมาะสมที่ตรงไหน
· เพิ่มความสามารถในการผลิต – ความสามารถในการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอๆกับโครงสร้างทางประชากร รัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องระบบการศึกษาควบคู่กับการพัฒนาทักษะของแรงงานปัจจุบัน เพื่อรองรับเทคโนโลยี ใหม่ๆที่กำลังถาโถมเข้าสู่สังคม
สังคมสูงวัยในเอเชียจะทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการธุรกิจของเอเชียและของโลกด้วย – กล่าวโดยสรุป คือ หลายประเทศมีโอกาสใหม่เพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่ประเทศไทยต้องเร่งหาทางปรับตัวให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น สังคมสูงวัยยังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในวงขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการรักษาพยาบาลเท่านั้น