ฟิทช์ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทเงินทุนทิสโก้

ข่าวทั่วไป Wednesday June 22, 2005 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัทเงินทุนทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (“ทิสโก้”) เป็น ‘A(tha)’จากเดิม ‘A-(tha)’ (A ลบ(tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นเป็น ‘F1(tha)’ จากเดิม ‘F2(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ผลงานการจัดการที่ระมัดระวังของคณะผู้บริหาร และเครือข่ายการให้บริการธุรกิจทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าบริษัทจะมีขนาดเล็ก อันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่อัตรากำไรจะถูกแรงกดดันจากการแข่งขันในธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความผันผวนของรายได้จากการให้บริการทางด้านวาณิชธนกิจและรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ความสามารถในการระดมแหล่งเงินทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารบางธนาคาร แม้ว่าจะแข็งแกร่งกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเงินทุนอื่น
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการที่ฟิทช์คาดการณ์ว่าทิสโก้น่าจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้ แม้ว่าอัตราการเติบโตอาจจะอยู่ในระดับต่ำลงเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินโดยรวมที่อ่อนแอลงในปี 2548 บริษัทจะทำการปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มโดยมีแผนการที่จะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งแยกออกมา ถึงแม้ว่าแผนการดังกล่าวจะมีผลกระทบค่อนข้างจำกัดต่อสถานะทางด้านเครดิตของทิสโก้ซึ่งบริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจเงินทุนและธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักต่อไป โครงสร้างดังกล่าวน่าจะช่วยลดความผันผวนของรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และวานิชธนกิจ แต่อาจส่งผลให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลง ในขณะที่ทิสโก้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินกองทุนจากกระทรวงการคลังในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่เมื่อพิจารณาถึงขนาดของบริษัทที่เล็ก การสนับสนุนในระยะยาวจากรัฐบาลนั้น มีความเป็นไปได้น้อย
ทิสโก้มีกำไรสุทธิในปี 2547 ที่ 2.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.9 พันล้านบาท ในปี 2546 เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ระดับการกันสำรองที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ ในไตรมาสแรกของปี 2548 กำไรสุทธิได้ลดลงเป็น 525.1 ล้านบาท จาก 612.4 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2547 เนื่องมาจากรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และรายได้จากการให้บริการทางด้านวาณิชธนกิจที่ลดลง อัตราผลกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยของทิสโก้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.5% ในไตรมาสแรกของปี 2548 จาก 4.3% ในไตรมาสแรกของปี 2547 เนื่องมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ต้นทุนที่ใช้สำหรับการวางรากฐานระบบธนาคารพาณิชย์ใหม่และค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นก็อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของทิสโก้ในปี 2549 ถึงแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรโดยพื้นฐานแล้ว น่าจะสามารถรักษาไว้ได้ในระดับเดิม
สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัดส่วนประมาณ 68% ของสินเชื่อทั้งหมดของทิสโก้ ในขณะที่สินเชื่อส่วนที่เหลือคือสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้าภาคธุรกิจที่เป็นบริษัท กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของทิสโก้นั้น ค่อนข้างระมัดระวังเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเงินทุนอื่นในประเทศไทย การเจริญเติบโตของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ที่แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่สูง แต่ก็ยังต่ำกว่าคู่แข่งหลักของบริษัท และเป็นสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดกว่าของบริษัท ระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาท หรือ 4.6% ของสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 จากระดับ 5.5% ของสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคธุรกิจบริษัท ระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ 1.3% จัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ทิสโก้เน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถใหม่ ถึงแม้ว่าการขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สู่ต่างจังหวัดมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงทางด้านเครดิตในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม ระดับเงินสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เช่นเดียวกับอัตราส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
เนื่องจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สภาพคล่องส่วนเกินของทิสโก้ได้ลดลงมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์น่าจะช่วยสนับสนุนในด้านการระดมเงินฝากในระยะปานกลาง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของบริษัทอยู่ที่ 8.9 พันล้านบาทหรือ 14.9% ของสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับขนาดที่เล็กของบริษัทและความผันผวนของตลาด อย่างไรก็ตาม อัตราการจ่ายเงินปันผลและการเติบโตที่สูงอาจส่งผลให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลง แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โครงสร้างผู้ถือหุ้นของทิสโก้นั้นอยู่ในลักษณะกระจายตัวโดยมีบริษัทในกลุ่ม China Development Industrial Bank ของไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 13%
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 99.9% โดยทิสโก้ ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ