กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--Index Creative Village
กระทรวงพลังงาน ประกาศความสำเร็จหลังโชว์ Thailand Pavilion ภายใต้แนวคิด Bioenergy forAll ในงาน AstanaExpo2017ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ด้วยการโชว์ศักยภาพการพัฒนาพลังงานชีวภาพของประเทศไทย ทะลุเป้าหมายการจัดงานด้วยจำนวน ผู้เข้าชม Thailand Pavilion สูงถึง 715,019 คน คิดเป็น 18% ของจำนวนผู้เข้าชมงานทั้งหมดพร้อมขึ้นแท่นติด 1 ใน 4 พาวิลเลียนยอดนิยมที่มีผู้เข้าชมสูงสุด และคว้าอีก 2 รางวัลการันตีความสำเร็จ ได้แก่ อันดับ 2 ให้เป็นพาวิเลียนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กและครอบครัวจาก Astana Expo TV และรางวัลขวัญใจมหาชน Honorable Mention สาขา People Choice Award โดย Exhibitor Magazine ประเทศสหรัฐอเมริกา
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทย ที่ไปโชว์ศักยภาพความโดดเด่นด้านพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานชีวภาพ ของประเทศไทย ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการโดย อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ภายใต้แนวคิด "Bioenergy for All" ในการเข้าร่วมงานInternational Exposition 2017 หรือ Astana Expo 2017 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก "Future Energy" ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้น อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ได้สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆมากมาย ตลอดการจัดงาน 3 เดือน (93 วัน) ได้แก่ พิธีเปิด, วันเสมือนวันชาติ (National Day),วันความสัมพันธ์ไทย-คาซัคสถาน, วัน Business Matching, วันวัฒนธรรมไทย, วันลอยกระทง และวันพิธีปิด
โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานสนับสนุน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมการพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการผลักดันให้ Thailand Pavilion มีเสียงตอบรับจากประชาชนชาวคาซัคสถาน และผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศเข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง ส่งผลให้อาคารศาลาไทย ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และยังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของประเทศไทย ในทุกๆ มิติของการจัดงาน
เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างที่สำเร็จ พร้อมอวดโฉมความสมบูรณ์แบบเป็นชาติแรก ด้วยการวางแผนและบริหารการจัดงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระยะเวลาในการขนส่งอุปกรณ์ในการก่อสร้างนาน 3 เดือน เนื่องจากภูมิประเทศของคาซัคสถานเป็นประเทศปิด ไม่มีแนวชายแดนติดทะเล จึงต้องใช้วิธีการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างอาคารศาลาไทยผ่านทางเรือไปที่จีน แล้วต่อด้วยการขนส่งทางรถไฟเข้าคาซัคสถาน สำหรับการก่อสร้างThailandPavilionด้วยระยะเวลาการขนส่งที่ค่อนข้างนาน จึงมีเวลา ในการก่อสร้าง และเซตอุปกรณ์ เพียง 2 เดือนเท่านั้น เริ่มลงมือกันตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ถึงแม้จะมีเวลาในการก่อสร้างไม่นาน แต่อาคารศาลาไทย ก็อวดโฉมความสำเร็จ เพื่อแสดงศักยภาพอันโดดเด่นในการพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติของไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ยังการันตีความสำเร็จด้วยการขึ้นแท่น 1 ใน 4 พาวิเลียน ยอดนิยมที่มีผู้เข้าชมงานมากที่สุดจาก 115 ประเทศที่เข้าร่วมงาน โดยมีจำนวนผู้เข้าชมอาคารศาลาไทย ทั้งสิ้น 715,019 คน เฉลี่ยวันละ 7,662 คน คิดเป็น 18% จากผู้เข้าชมงาน Astana Expo จำนวน 3,977,545 คน ซึ่งทะลุเป้าหมายที่ทางรัฐบาลไทยตั้งไว้ 500,000 คน หรือ 10% จากการประมาณการผู้เข้างาน 5,000,000 คน ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมศาลาไทยมีจำนวนสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาล ตั้งไว้ถึง 215,019 คน คิดเป็น 43%
นอกจากนี้ อาคารศาลาไทยยังได้รับคัดเลือกเป็นอันดับ 2 ให้เป็นพาวิเลี่ยนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กและครอบครัว Best Pavilions to Visit with Children จาก Astana EXPO TV สื่อโทรทัศน์หลักของงาน และสุดท้ายกับรางวัลขวัญใจมหาชน Honorable Mention สาขา People Choice Award ที่ได้รับการโหวตจากเสียงของผู้เข้าชมงาน จัดอันดับโดยนิตยสาร Exhibitor Magazine ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นอกจากนิทรรศการด้านพลังงานแล้ว Thailand Pavilion ยังนำเสนอและส่งเสริมประเทศไทยในด้านอื่นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลตอบรับจากการเข้าร่วมงาน Astana Expo2017 ในครั้งนี้ และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตลาดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ดังนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ พบยอดการสั่งซื้อสินค้าไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใน 1 ปี มูลค่า 11.12 ล้านบาท, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดย ครัวการบินไทย มียอดการจำหน่ายอาหารไทยคิดเป็น มูลค่า 1.2 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เผยแพร่นโยบายการลงทุนของประเทศไทย และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุนระหว่างประเทศ,กระทรวงวัฒนธรรม จัดการแสดงกว่า 30 ชุด และกิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การยิ้ม การไหว้ ความเป็นมิตรของคนไทย
สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย และทำให้ชาวคาซัคสถาน และนานาประเทศได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอข้อมูลด้านพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงานของไทย, กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการเผยแพร่สินค้า OTOP ของประเทศไทย และมียอดสั่งจองจากต่างชาติ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกาแฟดริปอเมซอน และมีโอกาสขยายช่องทางทางการค้าในตลาดเครื่องดื่มประเภทกาแฟในเขตภูมิภาคเอเซียกลาง อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลสำรวจผู้เข้าชม Thailand Pavilion พบว่าผู้เข้าชม มีความชื่นชอบ และมองว่า Thailand Pavilion มีการนำเสนอที่มีความโดดเด่น และแตกต่าง สามารถสร้างความจดจำให้ แก่ผู้เข้าชมได้ โดยเฉพาะเรื่องราวแนวคิดการนำเสนอ การใช้เทคนิคที่ใช้ในเล่าการเรื่อง มาสคอตพลัง รวมถึงการต้อนรับ ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นต่างจากประเทศอื่นๆ รวมถึงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องที่ช่วยสร้างการรับรู้กับผู้ชมได้ดี คิดเป็น 95%
ทั้งนี้ ในส่วนการรับรู้ถึงเนื้อหาที่ประเทศไทยต้องการสื่อ พบว่า ผู้เข้าขม มีความเข้าใจ และรับรู้ถึงเรื่องราวเนื้อหาที่ประเทศไทย ต้องการสื่อ โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่อง Bioenergy เพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด จากที่ไม่เคยมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องของพลังงานชีวภาพเลย สามารถรับรู้ได้ว่าประเทศไทยใช้พลังงานชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทน และรับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเห็นว่าคนไทยมีความเป็นมิตรและมี Hospitality ที่ดี สูงถึง 91% รวมทั้งมีความสนใจอยากจะมาเที่ยวเมืองไทย สูงถึง 80%