กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน พร้อมแจงผลการดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 44,846,031.85 ไร่ โดยการดำเนินงานเพิ่มพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในปี 2559 ได้ป่ากลับคืนมา 140,000 ไร่ สำหรับปี 2560 เป้าหมายคือ 107,000 ไร่ ซึ่งทำไปได้ 60,000 ไร่ ยังขาดอีก 40,000 กว่าไร่
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า "กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2569 โดยกรมฯ ได้ดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ยุทธศาสตร์หลัก 7ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษา4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.สร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ และ7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของภาคเหนือและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนบนพื้นที่สูงให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง และยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ ที่สำคัญช่วยให้ป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ในปี 2559 กรมอุทยานฯ สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้ทั้งสิ้น 140,000 ไร่ ส่วนในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 4,993 แปลง107,518.88 ไร่ ขณะนี้ดำเนินการได้ 60,000 กว่าไร่ ยังคงขาดพื้นที่ป่าตามเป้าหมายอีก 40,000 กว่าไร่ สำหรับข้อมูลสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ 44,698,837.26 ไร่ โดยในพื้นที่ไม่มีสภาพป่าประมาณ 3,532,661.97 ไร่ หรือประมาณ 7 % แบ่งเป็นก่อนปี 2545 จำนวน 3,208,925.14 ไร่ และหลังปี 2545 จำนวน 323,736.83 ไร่ ในปี 2559 ได้กลับคืนมา 141,017.33 ไร่ สำหรับปี 2560 เป้าหมายประมาณ 107,000 ไร่ ซึ่งดำเนินการได้ 60,000 ไร่ ยังขาดอีก 40,000 กว่าไร่"
"ดร.ทรงธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า "กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้มีการจัดทำโครงการ SMART NATIONAL PARK 4.0 พร้อมทำ Smart Platform ให้เป็นระบบศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และวางแผนพัฒนาพื้นที่อุทยานให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า อย่างเหมาะสมและถูกต้องมากที่สุด สามารถเฝ้าระวังภัยคุกคามในพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลได้แบบ Real Time มีเชื่อมโยงแอพพลิเคชั่นครบตามความต้องการใช้งาน นอกจากเป็นการพัฒนาโครงการ Smart National Park 4.0 ยังได้มีการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังภัยคุกคาม การแจ้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือขอความช่วยเหลือ (SOS) ได้อย่างทันท่วงที เป็นการช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างดี"
นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติศรีลานนามีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่านานาชนิด ส่วนพื้นที่ของหย่อมบ้านห้วยกันใจถูกจัดอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 Bหรือป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) และเป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แต่จากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยานฯ จึงเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างรุนแรง เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ทางอุทยานฯ จึงปรับแนวทางการดำเนินงานใหม่ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดเวทีเจรจากันในชุมชน เพื่อเน้นย้ำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และสร้างความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ พร้อมทั้งนำอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าพิกัดดาวเทียมหรือ GPS มาใช้เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน เพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับตัวแทนของชุมชน จนชาวบ้านยอมรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงนำไปสู่การคืนผืนป่าแล้วกว่า 1,300 ไร่
นอกจากนี้ ชุมชนยังร่วมกันกำหนดกติกาหมู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกป่าอย่างจริงจัง และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปลูกป่าบนเขาหัวโล้น โดยการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ จึงทำให้ชาวบ้านเกิดแนวคิดหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้และคืนพื้นที่ป่าให้กับอุทยานฯ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้อุทยานมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากท่านพระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านหลวง เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด ประธานบูรณะวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอนุรักษ์ป่าและเป็นแกนนำในการสร้างศูนย์เรียนรู้ในชุมชน จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และป่าต้นน้ำ
"ณ วันนี้ยืนยันได้ว่าในพื้นที่ อ.พร้าว ไม่มีการบุกรุกป่าอีกแล้ว โดยเราจะทำการบล็อคพื้นที่เอาไว้ เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และทางหน่วยต้นน้ำก็จะดำเนินการขับเคลื่อนต่อ ส่วนหน่วยพัฒนาที่ดินของกระทรวงเกษตรฯ ก็เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำ และสร้างฝายหลวงชะลอน้ำ และเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงก็เข้าไปส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าว
นายยศวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ที่ผ่อนผัน ทางอุทยานฯ ก็จะออกแบบให้ชาวบ้าน โดยมุ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมทั้งให้ชาวบ้านทำแนวกันไฟป่าอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้ทำการปักหลักซีเมนต์ล้อมรอบพื้นที่ทำกินไว้ทั้งหมดประมาณ 900 กว่าหลัก และในอนาคตถ้าชุมชนมีรายได้พอเพียง ทางอุทยานฯ ก็จะเจรจาขอลดพื้นที่ทำกินลงอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำในตอนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ป่า และการสร้างจิตสำนึกให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยยึดแนวทางพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ปลูกป่าในใจคน" และส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน อนุรักษ์ดินและน้ำ โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค