กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคองเพิ่มอีก เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และน้ำใช้การเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ที่ยังมีปริมาณน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปี 2560 มีฝนตกมากกว่าปีก่อนๆ แต่ยังคงมีบางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่มากนัก และมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักในระดับที่น้อยมาก จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา
โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 20 กันยายน 2560 มีน้ำ 111 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีพื้นที่ชลประทานที่ต้องดูแล จำนวน 154,195 ไร่ มีการเพาะปลูกรวม 120,599 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในต้นเดือนธันวาคม 2560 คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เขื่อนลำตะคองจะมีน้ำใช้การได้ 114 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่โดยรวมก็มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เตรียม ความพร้อมด้วยการให้ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการเกิดภัยแล้งเฉพาะพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบาย การดำเนินการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตามลำดับความเร่งด่วนในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรต่อเนื่อง การเริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า โดยจะมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ใช้น้ำและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการ สำหรับในส่วนของ เขื่อนลำตะคอง ซึ่งมีน้ำต้นทุนน้อยหลายปีต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องวางแผนเตรียมการช่วยเหลือล่วงหน้าอย่างรัดกุม
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยสรุปสถานการณ์น้ำ ในเขื่อนสำคัญหลายเขื่อนของประเทศ ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมาก โดย เขื่อนลำตะคอง เป็นหนึ่งในจำนวน 10 เขื่อน ที่มีความจำเป็นจะต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวงภาคกลางร่วมกันดูแลในพื้นที่และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พร้อมสำหรับสถานการณ์การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการ ฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น ร้อยละ 97.2 ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 2,643.33 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 433 นัด พลุแคลเซียมคลอไรค์ 56 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนลำตะคอง
ทั้งนี้ การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง 350.10 ตัน พลุแคลเซียมคลอไรค์ 21 นัด ซึ่งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมการวางแผนเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แหล่งน้ำสำคัญของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และพืชสวน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดนครราชสีมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย