กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแนะพ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูก รวมถึงพฤติกรรมที่เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้ต้องเริ่มเปลี่ยน 3 ข้อ ได้แก่ การที่ลูกเริ่มไม่ทานผักผลไม้ ดื่มน้ำน้อย และติดหน้าจอ ไม่ค่อยวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เด็กวัย 3-5 ปีมีพัฒนาการทางร่างกายไม่สมวัย เช่น อ้วน ผอม หรือส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ และเป็นภาพสะท้อนว่าเด็กอาจกำลังมีปัญหาด้านโภชนาการ
รายงานภาวะโภชนาการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (MICS) ปี 2015 เผยว่า ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เตี้ยกว่าเกณฑ์ประมาณ 10% และน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ 7% ในขณะที่เด็กอ้วนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2552 เป็น 8.5% ในปี 2558 ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงจากครอบครัว นั่นคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักว่าโภชนาการที่ดีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก โดยใส่ใจพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพ และวางพื้นฐานให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตนได้อย่างเต็มที่ การขาดโภชนาการที่ดีจะกีดขวางการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้พัฒนาการล่าช้า ลดทอนศักยภาพในอนาคต
โครงการ "รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids) นำโดยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด พร้อมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ได้จัดกิจกรรม "1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน" ให้แก่ตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อแนะนำการสร้าง 3 สุขนิสัยในชีวิตประจำวันที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายสมส่วน ได้แก่
1. การดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
2. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณพอเหมาะ สำหรับปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อมื้อของเด็กอายุ 3-5 ปีนั้น ประกอบด้วยข้าวหรือแป้ง 1 ทัพพีครึ่ง เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผักสุกครึ่งทัพพีหรือผักดิบ 1 ทัพพี (ประมาณ 1 ฝ่ามือเด็ก) และผลไม้ 4 ชิ้นคำ
3. การขยันขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เนื่องจากเด็ก ๆ สมัยนี้โตมาพร้อมกับเทคโนโลยี บางคนอาจเกิดการติดจอ (ติดมือถือหรือแท็บเล็ต) ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ครอบครัวจึงควรหากิจกรรมออกกำลังง่ายๆ ที่สามารถสนุกร่วมกัน
รศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า "เราพบว่า คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโภชนาการ และเห็นความสำคัญของพฤติกรรมการกินที่ดี เพียงแต่ขาดการลงมือทำ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากมีความตั้งใจและความพยายาม บางท่านบอกว่าทำงานหนักจนไม่มีเวลาหรือไม่มีเงินพอจะหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกทาน หรือไม่มีความรู้ด้านโภชนาการเพียงพอ แต่จริง ๆ ความรู้ทางโภชนาการไม่ใช่ของหายาก และอาหารที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง มีผักผลไม้มากมายในตลาดที่ราคาถูกและเต็มไปด้วยสารอาหาร"
คุณหมอยังเสริมอีกว่า "การปลูกฝังนิสัยการกินผักผลไม้ให้ลูกควรเริ่มแต่เนิ่น ๆ เมื่อเด็กเริ่มทานอาหารอื่นนอกจากนมแม่ โดยไม่ต้องปรุงรสชาติ เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับรสชาติแบบธรรมชาติและฝึกนิสัยทานง่าย หากเด็กมีปัญหาทานยาก สามารถใช้หลัก 'Food Chain' โดยสังเกตสิ่งที่เด็กชอบทานและให้เด็กค่อย ๆ ลองทานอาหารชนิดใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน หรือการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกผัก ผลไม้ และช่วยเตรียมอาหารจะทำให้เด็กมีแนวโน้มทานผักผลไม้มากขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ"
อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ (เชียงใหม่) กล่าวว่า "พ่อและแม่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพดี โดยเริ่มจากการเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กในวัยนี้สมองเริ่มพัฒนาจากด้านหลังมาด้านหน้า คือ กลีบท้ายทอย (Occipital Lobe) ซึ่งดูแลด้านการมองเห็น ต่อมาคือสมองกลีบข้าง (Parietal Lobe) ซึ่งกระตุ้นได้ด้วยประสบการณ์ หากทำให้เด็กเห็นหรือให้เด็กมีส่วนร่วมจะทำให้เขาเรียนรู้และจำได้ดีขึ้น เช่น หากคุณพ่อคุณแม่ติดน้ำหวาน ลูกเห็นก็จะดื่มตาม หรือตรงกันข้าม ถ้าคุณพ่อคุณแม่ดื่มน้ำเปล่าให้ลูกเห็นบ่อย ๆ ลูกก็จะดื่มตามเช่นกัน"
อาจารย์รณสิงห์ กล่าวเสริมว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างนิสัยการกินอยู่เพื่อพัฒนาการของเด็กในภายหลังคือ ต้องเริ่มที่พ่อแม่เพียงมี "ความรู้" "ความตั้งใจ" และ "เริ่มลงมือทำ" หากเด็กมีปัญหาไม่ทานผักอาจเริ่มจากการวางผักบนโต๊ะอาหารและคุณพ่อคุณแม่ทานให้ดูอย่างเอร็ดอร่อย แล้วค่อย ๆ เลื่อนจานผักมาใกล้ จากนั้น ลองใส่จานเด็ก ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กค่อย ๆ ปรับตัว และสร้างลักษณะนิสัยที่ดี ในระยะยาวเทคนิคนี้จะได้ผลยั่งยืนกว่าการสั่ง หรือการบังคับ"
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า การที่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี และให้เด็กมีส่วนร่วม จะช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพดีของเด็กอย่างยั่งยืน ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ "รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids) ผ่าน Facebook.com/U4HKThailand หรือค้นหา United for Healthier Kids THผ่าน Facebook
ความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเด็กไทยจะเกิดขึ้นได้จริง...หากเราร่วมมือกัน