กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลากจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ใน 2 จังหวัด ได้แก่ สตูล และตรัง รวม 11 อำเภอ 48 ตำบล 267 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ พร้อมประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 21 – 22 กันยายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สตูล และตรัง รวม 11 อำเภอ 48 ตำบล 267 หมู่บ้าน ดังนี้สตูล น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอท่าแพ อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอละงู รวม 29 ตำบล 212 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,716 ครัวเรือน 51,530 คน ตรัง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ และอำเภอสิเกา รวม 19 ตำบล 55 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 1,220 ครัวเรือน 4,167 คน สถานการณ์ในภาพรวมยังมีฝนตกเล็กน้อย ระดับน้ำลดลง อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำ ลงสู่ทะเล ส่วนอิทธิพลของพายุ "ทกซูรี" ตั้งแต่วันที่ 15 – 20 กันยายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 12 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลากในจังหวัดพิษณุโลก 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอชาติตระการ อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง รวม 23 ตำบล 163 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,359 ครัวเรือน 26,255 คน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย พร้อมนำเรือและรถขนย้ายให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน รวมถึงจัดรถผลิตน้ำดื่มและรถไฟฟ้าส่องสว่างให้บริการแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง โดย ปภ.ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง มุ่งเน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักกับ ลมกระโชกแรงบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลับ น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป