กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กรมประมง
จากกรณีที่ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กฎหมายการประมงฉบับใหม่ของไทย ว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปเอื้อต่อกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU) ไม่เหมาะสมกับสภาพการประมงของไทย โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวประมง นั้น
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการประมง จึงได้ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและอาชีพการประมงไทย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความต้องการของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกรมประมงได้มีการหารือและตัดสินใจร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ตลอดจนชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ เพื่อนำข้อมูลมาวางกฎเกณฑ์และมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดความเหมาะสมและลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม จนนำสู่การออกพระราชกำหนดการประมง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้พระราชกำหนดดังกล่าวมีความสมบูรณ์และสามารถบังคับใช้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
พระราชกำหนดการประมงมีจุดมุ่งหมายที่ปกป้องชาวประมงขนาดเล็ก และควบคุมการทำประมงพาณิชย์ไม่ให้มากเกินขีดความสามารถของธรรมชาติที่จะทดแทนได้ โดยได้กำหนดบทลงโทษจากการกระทำผิดให้มีความแตกต่างกันตามมูลค่าของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้เรือประมงที่มีขนาดใหญ่เมื่อทำผิดกฎหมายต้องรับโทษมากกว่าเรือประมงขนาดเล็ก เนื่องจากมูลค่าของผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมายสูงกว่า
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ความร่วมมือให้พี่น้องชาวประมงทุกท่านที่ได้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืนต่อไป