กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--เอบีเอ็ม
ผลวิจัยเรื่องโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัล (Digitally Enabled Grid) ของเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) ซึ่งจัดทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 พบว่า ธุรกิจไฟฟ้ามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียรายได้จากการมีระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว (Distributed Generation: DG) มากที่สุด รวมถึงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และเซลล์เชื้อเพลิงต่าง ๆ ตามบ้าน
การสำรวจผู้บริหารกิจการไฟฟ้ามากกว่า 100 ราย ในกว่า 20 ประเทศ พบว่าผู้บริหารกิจการไฟฟ้าร้อยละ 58 เชื่อว่า ระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว (DG) จะทำให้รายได้ของพวกเขาลดลงภายในปีพ.ศ. 2573 โดยเฉพาะผู้บริหารในอเมริกาเหนือและเอเชียแปซิฟิก ที่กังวลใจมากกว่าผู้บริหารในยุโรป เนื่องจากในภูมิภาคเหล่านั้น อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการขยายตัวในแนวดิ่ง ทำให้ได้รับผลกระทบสองด้าน จากทั้งรายได้การขายที่ลดลง และต้นทุนของพลังงานในระบบเครือข่าย ที่ต้องทำให้การจ่ายพลังงานมีเสถียรภาพ น่าเชื่อตลอดเวลา
ผู้บริหารกิจการไฟฟ้ายังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่กดดันที่สุดเกี่ยวกับขีดความสามารถของระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว จะมาจากผู้บริโภคที่มีบทบาทในการผลิตพลังงานด้วย (energy prosumer) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวในปัจจุบัน (ประมาณร้อยละ 59) ตามมาด้วยระบบแหล่งผลิตไฟฟ้าปานกลางและแรงสูงที่เชื่อมต่อกัน ดังเช่น โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (ร้อยละ 28)
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริหารจำนวน 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 59) คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 ความผิดพร่องของโครงข่ายไฟฟ้า (grid faults) อาจเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ร้อยละ 59 ของผู้บริหารเหล่าต่างก็เชื่อว่า ขีดความสามารถในการให้บริการโดยแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว จะหมดไปภายใน 10 ปี หากไม่หมดไปเสียก่อนในเร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้น การจะใช้ระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวใหม่ จะมีต้นทุนเป็นเงินทุนที่ต้องเติมเข้าไปอีกมาก ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เอง มีผู้บริหารเพียงร้อยละ 14 ที่สามารถพยากรณ์ได้อย่างชัดเจนถึงขีดความสามารถในการให้บริการไฟฟ้าจากแหล่งผลิตแบบกระจายตัว
"การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น และความสนใจในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามบ้าน ได้ผลักดันให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว ตั้งแต่ส่วนเล็ก ๆ ไปถึงแหล่งผลิตขนาดใหญ่ เข้ามาสู่โครงข่ายระบบไฟฟ้า" นายภากร สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากรเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว
"การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดในแง่การเก็บกักพลังงาน ตอบสนองต่ออุปสงค์ได้ทันท่วงที และประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคทั้งหลายมีอำนาจต่อรอง และทำให้ผู้ให้บริการกิจการไฟฟ้าต้องจัดหาบริการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น หลากหลายรูปแบบขึ้น และแม้ว่าจะยังคงมีอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ร่วมกันเพื่อให้บริการในตลาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ธุรกิจก็จำเป็นต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อวางตำแหน่งเป็นธุรกิจที่เน้นบริการ ซึ่งจะนำรายได้ใหม่ ๆ ที่ต้องการเข้ามา
ระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวที่ฉลาดขึ้น จะรับมือกับความท้าทายได้
ผู้บริหารกิจการไฟฟ้าได้ระบุถึงการรวมแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวว่า เป็นความท้าทายของธุรกิจ ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ธุรกิจไฟฟ้าส่วนใหญ่จึงคาดว่าจะมีการวางแผนขีดความสามารถในการผลิตกันใหม่ สำหรับระบบแหล่งผลิตไฟฟ้าที่กระจายตัวในวงกว้าง ให้สามารถรองรับได้สำหรับ 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งระบบสนับสนุนการเก็บกักพลังงาน และระบบปฏิบัติการสำหรับแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว ซึ่งยังคงต้องพัฒนาไปอีกมาก
"การรวมแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวเข้ามาในโครงข่ายผลิตไฟฟ้าให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีแนวทางที่สมดุลที่นำไปใช้ได้ในทุกภาคส่วนของระบบ ที่ทำให้ธุรกิจไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเครือข่าย" นายภากรกล่าว และเสริมต่อว่า "กุญแจสำคัญคือ การทำให้เกิดสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการการลงทุนอย่างรอบคอบ การดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ในขณะที่ยังสามารถคงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแหล่งจ่ายไฟไว้ได้ด้วย"
และเพื่อให้การสำรวจมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เอคเซนเชอร์ได้จัดทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์และพบว่า การนำโซลูชั่นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้สำหรับผู้บริโภค จะช่วยลดการลงทุนในส่วนที่ต้องใช้รองรับระบบแหล่งผลิตกระจายตัวขนาดเล็กได้ประมาณร้อยละ 30 ภายในปีพ.ศ. 2573 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หรือเทียบเท่ากับการลดค่าใช้จ่ายลงได้ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 16,000 ล้านยูโร ตามลำดับ
ทั้งนี้ การลดต้นทุนต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของโครงข่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ให้มีพลวัตมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจัยจูงใจด้านทำเลที่ตั้งจะกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโครงข่ายที่มีต้นทุนการลงทุนใหม่สูง สามารถจำกัดปริมาณไฟฟ้าจากแหล่งผลิตกระจายตัวที่จะเข้ามาในระบบในช่วงวิกฤตได้ และสามารถกักเก็บและตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างทันท่วงที
นายภากรยังเผยว่า การรวมระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวเข้ามาในโครงข่ายนั้น แท้จริงแล้ว สามารถเป็นองค์ประกอบรากฐานสำคัญของโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของผู้ให้บริการไฟฟ้าต่าง ๆ เนื่องจากช่วยให้เกิดโซลูชั่นที่ประหยัด ต้นทุนต่ำ อันจะช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายเร่งด่วนที่เข้ามาได้
ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยประจำปีของเอคเซนเชอร์เรื่อง "โครงข่ายไฟฟ้าระบบดิจิทัล" (Digitally Enabled Grid) ได้ประเมินสภาพการณ์และโอกาสต่าง ๆ ของโครงข่ายไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับการวิจัยประจำปี 2560 นี้ ได้รวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ผู้บริหารในแวดวงธุรกิจไฟฟ้ากว่า 100 คน จากมากกว่า 20 ประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงมกราคม 2560 ผู้บริหารที่ให้สัมภาษณ์ล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยร้อยละ 71 เป็นผู้บริหารธุรกิจไฟฟ้าระบบรวม และอีกร้อยละ 29 มาจากธุรกิจไฟฟ้าระบบอิสระ ผู้บริหารที่ให้สัมภาษณ์ถือเป็นตัวแทนจากประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา จีน เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เอคเซนเชอร์ยังได้จัดทำแบบจำลองเพื่อประเมินต้นทุนของการรวมระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวขนาดเล็กเข้ามาในโครงข่าย และศักยภาพในการประหยัดต้นทุนสร้างระบบใหม่