กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
'BEM' วางโรดแมพเพิ่มประสิทธิภาพบริการรับความต้องการพุ่งเท่าตัว เพิ่มรถสายสีน้ำเงิน 35 ขบวนใน 2 ปี เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายต่อเนื่อง
BEM เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรับปริมาณผู้โดยสารที่พุ่งขึ้นสูงสุดเกือบเท่าตัวหลังเชื่อมต่อสายสีม่วงและสีน้ำเงิน เดินหน้าตามโรดแมพยกระดับบริการและประสิทธิภาพต่อเนื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาว มั่นใจศักยภาพพร้อมให้บริการ พร้อมโชว์ผลประกอบการแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน - บางซื่อ จำนวน 1 สถานี ระยะทาง1.2 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) กับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ทำให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 30,000 เที่ยว เป็นมากกว่า 50,000 เที่ยว และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 340,000 เที่ยว เป็นมากกว่า 360,000 เที่ยว
"ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผลประกอบการของ BEM อย่างชัดเจน โดยก่อนที่จะมีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้งสองสาย BEM มีรายได้จากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลี่ย 6.99 ล้านบาทต่อวัน และเพิ่มเป็น 7.72 ล้านบาทต่อวันหลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งได้มีการเปิดบริการเชื่อมต่อสถานีเตาปูน-บางซื่อ ผลดังกล่าวจะทำให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังของ BEM สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันของปีก่อน" ดร. สมบัติกล่าว
โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ BEM มีรายได้รวมที่ 7,505 ล้านบาท มาจากธุรกิจรถไฟฟ้า 2,230 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 1,432 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 18.54
"เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว BEM ยังมีแผนเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ โดยมีการดำเนินการในหลายส่วนไปควบคู่ไปกับแผนการจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 35 ขบวนด้วยงบการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมามาให้บริการภายในปลายปี 2562 ทั้งการเร่งรัดแผนการผลิตและทดสอบรถไฟฟ้าจำนวน 3 ขบวนแรกให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อเริ่มนำมาให้บริการในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562" ดร. สมบัติกล่าวเสริม
ในขณะนี้ BEM ยังมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 19 ขบวน ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยปรับเพิ่มความเร็วของขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการและตารางการเดินรถและบริหารจัดการเดินรถให้สอดคล้องตามปริมาณผู้โดยสาร เพิ่มกำลังคนและแผนงานซ่อมบำรุงเพื่อให้มั่นใจว่าระบบและขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 19 ขบวน มีความพร้อมในการให้บริการเต็มพิกัด นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับปรุงการให้บริการ โดยจัดเพิ่มพนักงานสถานีเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกในการให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน BEM ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 หัวลำโพง-หลักสอง ในช่วงเดือนกันยายน 2562 และช่วงที่ 3 เตาปูน-ท่าพระในเดือนมีนาคม 2563 ตามกำหนด